การประชุมระดับนโยบายกรมราชทัณฑ์และ มสธ.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดให้มีการประชุมระดับนโยบาย เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และกรมราชทัณฑ์ โดยเรียนเชิญอธิบดีกรมราชทัณฑ์/ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ในวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช 

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา (นายวสันต์ สิงคเสลิต)  พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมประชุมร่วมกับอธิการบดี (รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย) และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ในวันดังกล่าว ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

– มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้แสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุปสรรค ปัญหาของการดำเนินงาน เช่น กรณีผู้ต้องขังไม่สามารถนำเอกสารการเรียนเข้าไปอ่านในเรือนนอนได้  พร้อมทั้งเสนอแนะให้ใช้วิธีการแยกหนังสือเป็นส่วนๆ เพื่อให้มีขนาดเล็กลง ตรวจสอบได้ เป็นต้น ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงถึงปัญหาความรุนแรงของการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำ เช่น ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากมีการอนุญาตให้นำเอกสารเข้าเรือนนอน จะยากต่อการตรวจสอบป้องกัน ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่มีความตั้งใจในการศึกษา จะสามารถจัดสรรเวลาในการศึกษาเอกสารการสอนได้อย่างเพียงพอในช่วงกลางวัน

– มหาวิทยาลัยกล่าวถึงแนวโน้มจำนวนผู้ต้องขังที่เป็นนักศึกษาที่ลดลงในขณะนี้ และขอความอนุเคราะห์กรมราชทัณฑ์เพื่อให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังให้มากขึ้น เช่นการปรับลดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษาลง กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงถึงนโยบายการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเข้ารับการศึกษาว่ายังคงให้การส่งเสริม สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของนักศึกษา มสธ. ได้มีกำหนดคุณสมบัติ/หลักเกณฑ์/แนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน การที่ยอดนักศึกษาลดลง  อาจสืบเนื่องจากปัจจุบัน กรมฯ มีช่องทางให้ผู้ต้องขังได้เลือกเรียนมากขึ้นซึ่งสามารถจบการศึกษาได้ง่ายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น หลักสุตร ปวช. / ปวส.

– ปัญหาการจัดสอบ มหาวิทยาลัยได้แสดงความเห็นกรณีปัญหาข้อมูลผู้ต้องขังที่เข้าสอบไม่นิ่งจากการที่ผู้ต้องขังย้ายเข้า/ออกระหว่างเรือนจำขณะมีการจัดสอบ ทำให้มีปัญหาในการจัดชุดจำนวนข้อสอบไม่ตรงกับจำนวนผู้สอบ เป็นต้น กรมราชทัณฑ์ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยให้มีการกำหนดผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องขังภายในเรือนจำเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสามารถติดต่อประสานงานได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องขังเป็นไปอย่างรวดเร็วถูกต้อง

– กรมราชทัณฑ์เสนอมหาวิทยาลัย ให้มีการขยายพื้นที่การจัดอบรมเข้มและฝึกปฏิบัติเสริมทักษะไปยังส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เป็นต้นไป เนื่องจากส่วนกลางไม่สามารถรองรับได้ ไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ  หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้ต้องขัง เช่น การทำรายงานแทน เป็นต้น มหาวิทยาลัยชี้แจงว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแต่ละหลักสูตรในหลายสาขาวิชา ซึ่งมหาวิทยาลัยจะรับไว้พิจารณาต่อไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *