✨✨✨ วันที่ 12 กันยายน 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์มอบหมายให้ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา เข้าร่วมในงานฉลองปริญญาผู้ต้องขังบัณฑิตมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปี พ.ศ. 2566พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์จุมปา กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี และคณาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะผู้บริหารเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ร่วมเป็นเกียรติในงานดังกล่าว ณ ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีกรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เล็งเห็นว่า การศึกษาของผู้ต้องขังที่อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจที่ไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับบุคคลภายนอกนั้น ต้องอาศัยความตั้งใจ วิริยะ อุตสาหะ กำลังใจ และแรงบันดาลใจ โดยการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องขังได้เกิดความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตนเอง และนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่างๆ ภายหลังพ้นโทษ ซึ่งกรมราชทัณฑ์พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้การศึกษาแก่ผู้ต้องขัง ตั้งแต่ระดับผู้ไม่รู้หนังสือ จนถึงระดับปริญญาตรี และในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการจัดงานฉลองปริญญาผู้ต้องขังบัณฑิต พ.ศ. 2566 ซึ่งได้จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแก่ผู้ต้องขัง นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาเป็นความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ศึกษาได้พัฒนาความรู้ความสามารถ ตามสติปัญญา และศักยภาพของตนเอง โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้วกว่า 2,870 ราย ซึ่งในปีการศึกษา พ.ศ. 2558- 2566 นี้ มีผู้ต้องขังสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ และสมัครใจเข้าร่วมงานฉลองปริญญาผู้ต้องขังบัณฑิตจำนวน 33 ราย โดยภายในงานจะมีการมอบของที่ระลึกให้กับผู้ต้องขังบัณฑิตและมอบรางวัลให้แก่บัณฑิตที่มีผลการเรียนดีเด่น นอกจากนี้ยังมีพิธีแสดงมุทิตาจิตแด่คณาจารย์ และผู้บริหาร เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที พร้อมรับฟังการสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต จากตัวแทนบัณฑิต นายสุรศักดิ์ ศรีทะวงษ์ บุคคลต้นแบบ (Role Model) อีกด้วยกรมราชทัณฑ์ ยังคงดำเนินการพัฒนาความรู้ ให้การศึกษา การอบรมทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรม นับเป็นหนึ่งในภารกิจส่งเสริมการพัฒนาพฤตินิสัย ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญของกรมราชทัณฑ์ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังด้วยวิธีการและแนวทางที่เหมาะสม กับผู้ต้องขังแต่ละรายอันเป็นการปรับพฤตินิสัยที่ยั่งยืน ให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษได้มีโอกาสมากขึ้นในการประกอบอาชีพสุจริต นับเป็นการคืนคนดีสู่สังคม และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก







