เราคงเคยได้ยินคำที่เกี่ยวข้องกับสถานที่คุมขังนักโทษหรือผู้ต้องขังอยู่หลายคำด้วยกัน เช่น คุก ตะราง เรือนจำ หรือทัณฑสถาน เป็นต้น คำที่กำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน ได้แก่ “เรือนจำ” คำนี้มีกำหนดความหมายไว้ในพระราชบัญญติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ไว้ว่า “ที่ซึ่งใช้ควบคุมกักขังผู้ต้องขังกับทั้งสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน และให้หมายความรวมตลอดถึงที่อื่นใดซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษาวางอาณาเขตต์ไว้โดยชัดเจน” ในกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความใน มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ได้แบ่งเรือนจำออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
– เรือนจำกลาง
– เรือนจำส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย เรือนจำจังหวัด และเรือนจำอำเภอ
– เรือนจำพิเศษหรือทัณฑสถาน
– เรือนจำชั่วคราว
ในความเป็นจริง ในกฎกระทรวงดังกล่าว ทัณฑสถานจะเป็นเพียงเรือนจำประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ หนังสือราชการของกรมราชทัณฑ์ส่วนใหญ่ มักนิยมใช้คำว่า “เรือนจำ/ทัณฑสถาน” ควบคู่กัน จึงดูเหมือนว่าเรือนจำกับทัณฑสถานเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังคนละประเภทกัน “เรือนจำ” ซึ่งถูกนำมาใช้แทนที่คำว่าคุกหรือตะราง สันนิษฐานกันว่า น่าจะแปลมาจากคำว่า “พันธนาคาร” ในภาษาบาลีนั่นเอง เพื่อให้เกิดความไพเราะหรือดูดีกว่าคำว่า “คุก-ตะราง”
ส่วน “คุก” กับ “ตาราง” แม้จะไม่ใช่คำที่ใช้เรียกสถานที่คุมขังผู้ต้องขังอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในภาษาพูดและภาษาเขียน โทษประเภทหนึ่งในคดีอาญาก็ยังคงใช้คำว่า “จำคุก” ชาวบ้านทั่วๆไปก็ยังคงใช้คำว่า “ติดคุก” หรือ “ติดตะราง” กับคนที่ต้องโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แทนที่จะใช้คำว่า “ติดเรือนจำ” หรือ “ติดทัณฑสถาน”
ในความรู้สึกของคนทั่วไป “คุก” หรือ “ตะราง” ดูจะมีความหมายเหมือนกันหรือใช้แทนกันได้ แต่โดยข้อเท็จจริง คุกกับตะรางในสมัยก่อน ไม่ไช่สถานที่ที่เดียวกัน ตามการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ได้กล่าวถึงความแตกต่างของคุกกับตะราง โดยอ้างงานเขียนของนายประเสริฐ เมฆมณี อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไว้ดังนี้
“คุกเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังมีกำหนดโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป คุกเดิมตั้งอยู่ที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตรงที่ตั้งกองทหาร ร.พัน 1 ในปัจจุบัน ภาษาสามัญชนเรียกคุกนี้ว่า “คุกหน้าวัดโพธิ์” และสังกัดกระทรวงนครบาล หลวงพัศดีกลางเป็นหัวหน้าดูแลรับผิดชอบ โดยมีขุนพัศดีขวาและขุนพัศดีซ้ายเป็นผู้ช่วย ส่วนผู้คุมใช้เลขไพร่หลวงยามใน คนใดมาเข้าเวรไม่ได้ ต้องเสียเงินคนละ 1 บาทสำหรับจ้างผู้คุมแทนตัว เจ้าพนักงานคุกไม่มีเงินเดือนหรือเบี้ยหวัด ได้ผลประโยชน์จากการใช้แรงงานนักโทษทำงาน และได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่นักโทษต้องเสีย ค่าธรรมเนียมการรับนักโทษ มีอัตราวางไว้เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ และเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงานที่นำความกราบบังคมทูล 3 ตำลึง (12 บาท) ครั้นโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัว เสียให้อีก 2 ตำลึง (8 บาท) การกิน การนุ่งห่มของนักโทษ ญาติพี่น้องต้องติดตามมาส่งบ้าง นักโทษทำงานด้วยฝีมือเป็นลำไพ่ของตนบ้าง เช่น การช่างไม้และการจักสาน มิได้จ่ายของหลวงให้เลย
ส่วนตะรางใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษ ตั้งแต่ 6 เดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมที่บังคับบัญชากิจการนั้นๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย ตะราง กรมท่าช้าง ตะรางกระทรวงวัง ตะรางกระทรวงนครบาล ตะรางกระทรวงนครบาลนี้มีรวมทั้งหมด 12 ตะราง ซึ่งได้แยกไปสังกัดในบังคับบัญชาของกรมพระนครบาล 4 ตะราง สังกัดกรมพลตระเวน 4 ตะราง ตะรางต่างๆ ที่แยกย้ายไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ กันนี้ก็เพราะการศาลสถิตยุติธรรมในสมัยนั้นแยกย้ายกันสังกัดอยู่ ไม่ได้รวมขึ้นอยู่ในกระทรวงเดียวกันเหมือนสมัยนี้
การเรือนจำหัวเมืองชั้นนอก เดิมหน้าที่การไต่สวนโจรผู้ร้ายและการตุลาการในหัวเมืองชั้นนอกรวมอยู่ใน หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งมีที่คุมขังผู้ต้องขัง เรียกว่า ตะรางประจำเมือง เมืองละแห่ง แต่บางเมืองมีอาณาเขตกว้างขวาง ถ้ามีพลเมืองมากก็สร้างที่คุมขังย่อยขึ้นตามอำเภอ สำหรับคุมขังผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษหลวงรอจนกว่าจะได้ส่งตัวมายังผู้ว่าราชการเมือง บางเรื่องบางรายถ้าเป็นความผิดฉกรรจ์มหันตโทษ ผู้ว่าราชการเมืองต้องส่งตัวมายังกระทรวงเจ้าสังกัด คือกลาโหม การคุมขังนักโทษในสมัยนั้นไม่มีกฎข้อบังคับเรือนจำวางไว้โดยเฉพาะ แล้วแต่ผู้ว่าราชการเมืองจะวางขึ้นใช้เองตามที่เห็นสมควร “

จึงสรุปได้ว่าความแตกต่งของคุกกับตะรางคือ คุกเป็นสถานที่ที่ใช้คุมขังนักโทษที่มีโทษตั้้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนตะราง ใช้สำหรับคุมขังนักโทษที่มีโทษต่ำกว่า 6 เดือนนั่นเอง….
(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)