เกาะ “ตะรุเตา” หรือ “ตะรูเตา” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล แหล่งธรรมชาติที่สวยงามแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตทะเลอันดามัน มีความงามตามธรรมชาติทั้งบนเกาะและในน้ำ จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก เกาะตะรุเตาได้ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517
แม้ในปัจจุบัน เกาะตะรุเตาถือว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ แต่ในอดีตมีเรื่องราวไม่น้อยที่เล่าขานกันมาเกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบาก ความแร้นเค้นของนักโทษและผู้คุมจนต้องผันชีวิตตนเองไปเป็นโจรสลัดปล้นฆ่าเหยื่ออย่างทารุณโหดร้าย ตำนานของเกาะตะรุเตาซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “ทัณฑสถาน” หรือ “นิคมฝึกอาชีพ” สำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ของประเทศไทยยังคงเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
“ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา” เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2479 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงสี่ปี ซึ่งมีพระยาพหลพลหยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เกาะตะรุเตาได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพและกักกันสำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์และนักโทษการเมือง ด้วยเหตุผลง่ายๆคือมีภูมิประเทศยากแก่การหลบหนี เพราะเป็นเกาะใหญ่อยู่กลางทะเลลึก รอบๆเกาะก็เต็มไปด้วยฉลาม แถมในคลองก็มีจรเข้ชุกชุม คลื่นลมมรสุมก็รุนแรง ไม่มีเรือผ่านไปมา ม้่นใจได้ว่าจะไม่มีการแหกหักหลบหนี นอกจากจะมีผู้คุมดูแลแล้ว ยังมีฉลามและจรเข้ช่วยควบคุมไว้อีกชั้นหนึ่ง กรมราชทัณฑ์ในสมัยนั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ทำการสำรวจ จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษขึ้น ณ สถานที่นี้
หลวงพิธานฑัณฑทัย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี ได้รับมอบหมายให้ไปทำการบุกเบิก ปลูกสร้างอาคารที่ทำการ ที่พักผู้คุม เรือนนอนผู้ต้องขัง และโรงฝึกอาชีพ ใช้เวลา 2 ปี จึงสำเร็จ นักโทษชุดแรกที่ได้มีโอกาสมาพักผ่อนที่เกาะตะรุเตา เป็นพวกคดีอุกฉกรรจ์ จำนวน 500 คน ในปี พ.ศ.2481 และมีชุดหลังก็ติดตามมาเรื่อยๆ จนมียอดผู้ต้องขังสูงถึง 3,000 คน ภายในปีนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2482 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 และมีการส่งนักโทษการเมืองเข้ามายังเกาะตะรุเตาจำนวน 70 คน ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีกบฏบวรเดชและกบฏนายสิบมีการแยกกักขังนักโทษอุกฉกรรจ์และนักโทษการเมืองออกจากกัน โดยนักโทษนักโทษการเมืองจะนำมากักไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง ส่วนนักโทษอื่นถูกคุมขังไว้ที่อ่าวตะโละวาว นักโทษการเมืองที่ถูกนำมากักขังที่เกาะตะรุเตาในครั้งนั้น มีทั้งนักการเมือง ผู้มีนักคิดนักเขียน ซึ่งเคยอยู่ในแวดวงการเมือง การทหาร หรือเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศ รวมถึงนักคิดนักเขียนหลายคน จึงไม่มีการเข้มงวดกวดขันมากนัก และไม่ต้องทำงานหนักเหมือนนักโทษอุกฉกรรจ์
อิสรภาพย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเสมอไมว่ายุคใดสมัยใด ไม่นานนัก นักโทษการเมืองกลุ่มหนึ่ง นำโดย พระยาศราภัยพิพัฒน์ (ซึ่งภายหลังได้เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี พ.ศ.2490) พร้อมกับพวกอีก 4 คน ได้แก่ พระยาสุรพันธ์เสนี ขุนอัคนีรถการ นายหลุย คีรีวัติ และนายแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ก็ได้หลบหนีออกจากเกาะตะรุเตา ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เวลาประมาณห้าทุ่ม โดยติดสินบนผู้คุมและจ้างเรือชาวบ้านหลบหนีไปขึ้นฝั่ง ใช้เงินในการทำการไปทั้งสิ้น 5,000 บาท นับว่าไม่น้อยทีเดียวเมื่อเทียบกับค่าเงินในสมัยนั้น ทุกคนพกมีดชายธงไปคนละเล่ม สาบานกันว่าจะสู้ตายหากถูกจับได้หลังจากซ่อนตัวในแหเรือตังเกไปยังเกาะลังกาวีของมาเลเซียแล้ว ก็ได้ขอลี้ภัยการเมืองที่นั่น ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
บุคคลที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งที่เคยเป็นนักโทษที่เกาะตะรุเตาคือ สอ เศรษฐบุตร ก่อนต้องโทษมีบรรดาศักดิ์เป็น “รองเสวกเอก หลวงมหาสิทธิโวหาร” ด้วยวัยเพียง 26 ปี และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นปลัดกรมองคมนตรี สังกัดกรมราชเลขาธิการในราชสำนัก ท่านถูกจับในคดีกบฏบวรเดช ถูกถอดบรรดาศักดิ์ ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เคยถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำกลางบางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า ระหว่างถูกจองจำใช้เวลาเขียนพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย จนได้ความนิยมยกย่องทั่วประเทศว่าเป็นพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา โดยลักลอบส่งต้นฉบับออกมาตีพิมพ์นอกเรือนจำผ่านทางมารดาที่เดินทางเข้ามาเยี่ยม
ในปี พ.ศ.2484 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง นิคมตะรุเตาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เกิดความอดอยากหิวโหยและโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะไข้ป่า ได้ทำให้นักโทษเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากกว่า 700 คน เมื่อเกิดความเร้นแค้นไม่มีอาหารจะกิน ในที่สุดผู้คุมและนักโทษบางส่วนก็ผันตัวเองมาเป็นโจรสลัด ออกปล้นสะดมเรือสินค้าที่แล่นผ่านไปมาเพื่อยังชีพในระยะแรก และทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ มีการยึดเรือและฆ่าเจ้าทรัพย์อย่างทารุณโหดร้าย เป็นที่หวาดกลัวของนักเดินเรือจนไม่่มีใครอยากผ่าน ในที่สุดทหารอังกฤษจากมาเลเซียได้อาสารัฐบาลไทย นำทหารจำนวน 300 นาย ยกพลขึ้นบกที่เกาะตะรุเตาในวันที่ 15 มี.ค.2489 จับกุมขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ หัวหน้าโจรสลัดและแก๊งโจรสลัดนำขึ้นฝั่ง ระหว่างทีอยู่ในเรือ นายทหารอังกฤษได้ทรมานแก๊งโจรสลัดด้วยการให้นั่งตากแดดอยู่บนดาดฟ้าเรือ โดยขีดวงกลมให้นั่งไม่ให้ลุกไปไหนโดยเด็ดขาด เมื่อเดินทางถึงเกาะนกก็บังคับให้โจรสลัดเดินเท้าเปล่าไปยังเรือนจำจังหวัดสตูล มอบให้นายแสวง ทิมทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในสมัยนั้นดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ในที่สุด กรมราชทัณฑ์ก็ได้ประกาศยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาในปี พ.ศ.2491 สถานที่แห่งนี้จึงเป็นอดีต กลายเป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวของเกาะตะรุเตา ได้รับการถ่ายทอดทั้งในรูปแบบของภาพยนต์และนวนิยาย เช่น งานเขียนเรื่อง “Pirates of Tarutao” โดย Paul Adirex (นามปากกาของคุณปองพล อดิเรกสาร) หรือภาพยนต์เรื่อง “นรกตะรุเตา” ผลงานการกำกับของรุจน์ รณภพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม “ตะรุเตาโมเดล” การสร้างคุกบนเกาะก็ยังไม่ล้าสมัยเสียทีเดียวและคงไม่ใช่คุกแห่งเดียวที่อยู่บนเกาะ เพราะปัจจุบันเรามีเรือนจำที่ต้ั้งอยู่บนเกาะอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่เรือนจำอำเภอเกาะสมุย แต่คงนำไปเปรียบเทียบกับนิคมฝึกอาชีพตะรุเตาสมัยก่อนไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะเรือนจำแห่งนี้เกิดขึ้นมาโดยนโยบาย สภาพการณ์ตลอดจนแนวคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประการสำคัญเรือนจำแห่งนี้ ไม่ได้มีฉลามหรือจรเข้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้คุมรอบนอกโดยไม่ต้องจ่ายเงินเดือนเหมือนคุกที่เกาะตะรุเตาแต่อย่างใด…