กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมกันจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ผู้ต้องขัง โดยมีมูลเหตุสืบเนื่องจากในปีพุทธศักราช 2527 ผู้ต้องขังคนหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวางชื่อว่า บันเทิง ชูชาติ ได้ให้ญาติของตนสมัครเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในสาขาวิชานิติศาสตร์ และแจ้งฐานะการเป็นนักศึกษาให้เรือนจำกลางบางขวางทราบพร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อเรือนจำขอให้ตนได้มีโอกาสเข้าสอบไล่ในภาคการศึกษานั้น อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง(นายสวัสดิ์ สรรเสริญ) ได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อให้ประสานกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในการพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสม
จากการที่กรมราชทัณฑ์มีนโยบายเน้นหนักการแก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง และส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้ศึกษาในระดับก่อนอุดมศึกษาอย่างกว้างขวางอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นระบบการศึกษาทางไกลที่ทุกคนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเข้าชั้นเรียนเหมือนกับสถาบันการศึกษาแห่งอื่น อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (นายสนิท รุจิณรงค์) และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน) จึงมีความเห็นสอดคล้องกันที่จะร่วมกันจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังในระดับอุดมศึกษาโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะนักโทษชายบันเทิง ชูชาติ เท่านั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังทุกคนที่มีความประพฤติดีและมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด สามารถสมัครเข้าเป็นนักศึกษาได้ นับตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2528 เป็นต้นมา โดยผู้ต้องขังเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเองทั้งหมด และมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้หนังสืออนุญาตให้สมัครเรียนจากกรมราชทัณฑ์เป็นเอกสารประกอบการสมัครเรียนด้วย ในเดือนตุลาคม 2530 ได้มีผู้ต้องขังสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ เป็นบัณฑิตคนแรก ชื่อว่า กุยแก้ว อินต๊ะแก้ว จากเรือนจำกลางบางขวาง จากการจุดประกายของผู้ต้องขังทั้งสองรายดังกล่าว ทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาของผู้ต้องขังได้รับความสนใจจากผู้ต้องขังคนอื่นๆเป็นอย่างมาก มีผู้ประสงค๋์จะสมัครเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในปัจจุบัน มีผู้ต้องขังหลายพันรายทั่วประเทศที่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดูจำนวนผู้ต้องขังนักศึกษา มสธ.