แนวทางการพัฒนาเรือนจำเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้ต้องขังวัยหนุ่ม มีการศึกษาสาระสำคัญ 4 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขัง 2) กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรม 3) การจัดปัจจัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ 4) การประเมินผลการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรม ผลการศึกษาเพื่อนำไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขังวัยหนุ่มในภาพรวม ตลอดจนมุมมองในมิติต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การจัดตั้งเรือนจำเพื่อการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกรมราชทัณฑ์ ในการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เป็นลักษณะเฉพาะงานราชทัณฑ์ประเทศไทย และให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาขณะต้องโทษ สามารถกลับตนเป็นพลเมืองที่ดีคืนสู่สังคมใช้ชีวิตอย่างปกติสุข โดยไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำสร้างภาระให้กับสังคมอีกต่อไป ทั้งนี้หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงยุติธรรม เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อจัดแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนที่กระทำความผิดและผู้ที่ถูกคุมประพฤติ ….
คำสำคัญ: การศึกษาของผู้ต้องขัง กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาพฤตินิสัย
บทนำ
สังคมไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ รอบด้าน ไม่ว่าด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ต่างล้วนเป็นปัญหาวิกฤตที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมีรากฐานและที่มาของปัญหาร่วมกัน อิทธิพลและแรงกดดันจากการพัฒนาของโลกตะวันตกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การถูกครอบงำ เบียดเบียน และถูกทำลาย เน้นความสำเร็จเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมของประชาชาติ โดยละเลยไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคน สภาพการพัฒนาดังกล่าวส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างผู้มีโอกาสกับผู้ด้อยโอกาส มาตรการหนึ่งในการกู้วิกฤตคือการปฏิรูปการศึกษา การศึกษาเป็นกระบวนการที่ทำให้คนมีความรู้ และมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คนนั้นอยู่รอดในโลกได้ เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคมส่วนรวม (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.2545 : 3) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 หมวด 2 มาตรา 10 ระบุว่าการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาค หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ . 2542 : 7) และพระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551 มาตรา 10 กำหนดไว้ว่าเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเครือข่าย อาจดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนของการศึกษาตามอัธยาศัยสามารถเข้าถึงได้ตามความเหมาะสม (พระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. 2551: 4) หนึ่งในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม (Persons with Disability) อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ต้องขังวัยหนุ่ม (Young Prisoner) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้กระทำความผิดครั้งแรกและต้องโทษตามคำพิพากษาศาล มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี โดยในปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่เป็นผู้ต้องขังวัยหนุ่ม จำนวน 6,800 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่ม 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง ทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา และทัณฑสถานวัยหนุ่มนครศรีธรรมราช (ข้อมูลจากกองแผนงาน กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554)
กรมราชทัณฑ์มีภารกิจหลักในการควบคุมและแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมุ่งพัฒนาเป็นองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดี ไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพสุจริตและสามารถดำรงตนในสังคมภายนอกได้อย่างปกติ สังคมให้การยอมรับ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ไว้ว่า “กรมราชทัณฑ์เป็นองค์การชั้นนำของอาเซียนในการควบคุม แก้ไข และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง เพื่อคืนคนดี มีคุณค่า สู่สังคม” และได้กำหนดพันธกิจ (Mission) 2 ประการ ได้แก่การควบคุมผู้ต้องขังอย่างมืออาชีพ บำบัดฟื้นฟู และแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภารกิจหลักด้านการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพนับเป็นภารกิจที่สำคัญ กรมราชทัณฑ์ได้นำกระบวนการศึกษามาเป็นหลักในการแก้ไขพัฒนาผู้ต้องขัง โดยมีพัฒนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
พัฒนาการ
หลักสูตรการสอน
วัตถุประสงค์การจัดการศึกษา
ช่วงที่ 1
พ.ศ. 2434-2475
วิชาภาษาไทย และคิดเลข
เพื่อให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ไม่เน้นการศึกษาเน้นการลงโทษให้เข็ดหลาบและเกิดการสำนึกผิดในสิ่งที่ได้กระทำ
ช่วงที่ 2
พ.ศ. 2476-2513
สายสามัญ/วิชาชีพ การอบรมจริยธรรม/ศีลธรรม/พลศึกษา
เพื่อให้อ่านออกเขียนได้ มีความรู้เกี่ยวกับเมืองไทย มีทักษะในวิชาช่าง เพื่อนำไปความรู้ที่ได้รับไปประกอบเป็นอาชีพ มีจริยธรรม/รู้จักสุขอนามัย
เฉพาะตน
ช่วงที่ 3
พ.ศ.2514-2527
หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนและวิชาชีพ /อุดมศึกษา/จริยธรรม
มุ่งให้ผู้ต้องขังขยายผลการศึกษาสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/สายวิชาชีพ และระดับอุดมศึกษา และเน้นด้านการพัฒนาจิตใจโดยใช้หลักศาสนาต่าง ๆ
ช่วงที่ 4
พ.ศ.2528-2540
หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน/วิชาชีพและหลักสูตรการเรียนของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
เน้นให้ผู้ต้องขังทุกคนต้องรับการศึกษาขั้นต่ำประถมศึกษาและสนับสนุนให้มีหลักสูตรที่หลากหลายเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขัง
ช่วงที่ 5
พ.ศ.2542-ปัจจุบัน
หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน(สายสามัญ)/วิชาชีพ(ปวช./ปวส./ระยะสั้น)/อุดมศึกษา(ป.ตรี/ป.โท)/และกิจกรรมตามอัธยาศัย
เพื่อจัดการศึกษาผู้ต้องขังให้เป็นไปตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 และ พรบ.การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 2551 ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับการศึกษาภายนอก และส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมตามอัธยาศัยที่หลากหลาย
การจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขังทั่วไปที่กรมราชทัณฑ์ได้กำหนดจะมุ่งเน้นการให้ผู้ต้องขังอ่านออกเขียนได้ และการศึกษาขั้นพื้นฐานสายสามัญเป็นหลัก สำหรับผู้ต้องขังวัยหนุ่ม (Young Prisoner) กรมราชทัณฑ์ได้ให้ความสนใจและพัฒนาแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังวัยหนุ่ม โดยได้กำหนดนโยบายเป็นการเฉพาะให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ที่ระบุว่าต้องคำนึงถึงการศึกษาอบรมเป็นพิเศษ (กรมราชทัณฑ์ . 2551 : 5 – 9) กล่าวคือ สร้างบรรยากาศภายในเรือนจำให้มีลักษณะเหมือนโรงเรียนประจำ ให้ผู้ต้องขังแต่งกายคล้ายนักเรียนมัธยม สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นครูผู้สอน ให้ใส่กางเกงขายาวสีกากี เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือแขนยาวสีขาว การกำหนดแต่งกายดังกล่าวเพื่อเป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คุมและผู้ต้องขังที่เป็นอยู่เดิม มาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน อันจะมีผลให้การศึกษาอบรมบังเกิดผลดียิ่งขึ้น ให้เน้นในเรื่องการศึกษาอบรมมากกว่าการใช้แรงงาน โดยจัดให้มีสถานที่เรียนวิชาสามัญ ต้องเริ่มจากการสอนให้อ่านออกเขียนได้ จนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนเน้นเรื่องดนตรีไทย – สากล เพื่อช่วยกล่อมเกลาจิตใจของผู้ต้องขังวัยหนุ่มให้เป็นผู้ที่มีอารมณ์เยือกเย็น รวมถึงการฝึกสอนวงโยธาวาทิต เพื่อให้ผู้ต้องขังรู้จักการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีม การเล่นกีฬา กิจกรรมนันทนาการ เพื่อให้ใช้พลังกายส่วนเกินของตนให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม และกิจกรรมลูกเสือ เพื่อฝึกสอนให้เป็นผู้มีความรู้รักรู้สามัคคี มีระเบียบวินัย และเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ
ภารกิจด้านการแก้ไขผู้กระทำผิดของงานราชทัณฑ์ในประเทศต่าง ๆ มีความหลากหลาย ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาถึงรูปแบบการจัดการศึกษาผู้ต้องขังวัยหนุ่มของเรือนจำประเทศต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจในระบบการแก้ไขและพัฒนาผู้ต้องขังดังกล่าวของประเทศอื่น ดังนี้
ประเทศ
ลักษณะเรือนจำ
ลักษณะการพัฒนาพฤตินิสัย
ลักษณะการจัดการเรียนรู้
สิงคโปร์
(กรมราชทัณฑ์ 2551:20–22)
ปี 2000 จัดตั้งเรือนจำโรงเรียน
ในชื่อ Kaki Bukit Prison School
โดยจัดโครงสร้างระบบการปกครอง และสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำให้เป็นในลักษณะโรงเรียน
นำการศึกษามาใช้ในการแก้ไขผู้กระทำผิด ด้วยแนวคิดสร้างชีวิตใหม่และปลุกความหวังให้ผู้ต้องขังตลอดจนส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
จัดให้มีหลักสูตรพัฒนาความรู้ทางวิชาการด้านการศึกษาและวิชาชีพและมีโครงการให้ผู้ต้องขังวัยหนุ่มได้รับทักษะชีวิตและทักษะทางสังคมและมีการจัดตั้งชมรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ชมรมส่งเสริมการอ่านภาษาจีน,ห้องสมุด, กีฬา
ญี่ปุ่น
(กรมราชทัณฑ์ .2551:35–36)
มีการจัดตั้งทัณฑสถานวัยหนุ่มควบคุมผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี แต่ไม่มีการจัดตั้งเรือนจำการศึกษาเป็นการเฉพาะ
เน้นการแก้ไขด้านจิตใจด้วยหลักศาสนา หลักสูตรการฝึกวิชาชีพ และการเรียนสายสามัญ
ผู้ต้องขังวัยหนุ่มได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนทางไกลหลายหลักสูตร โดยได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และหลักสูตรการฝึกวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะ ซึ่งเมื่อเรียนสำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายหลังพ้นโทษ
อังกฤษ
(HM Prison Service.2006:38)
จัดตั้งเรือนจำฝึกอบรมระยะสั้นเป็นการเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังวัยหนุ่มที่รับโทษไม่เกิน 3 ปี และเรือนจำฝึกอบรมระยะยาว ควบคุมวัยหนุ่มที่รับโทษเกิน 3 ปี
การแก้ไขฟื้นฟูด้วยกระบวนการด้านการศึกษา และการฝึกวิชาชีพ
เน้นหลักสูตรสำหรับผู้ต้องขังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และจัดให้มีการศึกษาวิชาสามัญ โดยสอบเทียบรับประกาศนียบัตรจากสถาบันภายนอก มีหลักสูตรการเรียนระดับมหาวิทยาลัยโดยศึกษากับมหาวิทยาลัยเปิดทางไปรษณีย์
โดยภาพรวมกระบวนการแก้ไขผู้ต้องขังวัยหนุ่มในงานราชทัณฑ์ของเรือนจำต่างประเทศ ล้วนมีจุดประสงค์ในการนำการศึกษาและการเรียนรู้ มาใช้เป็นกระบวนหลักในการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังวัยหนุ่มให้กลับตนเป็นคนดี และถือเป็นหนึ่งภารกิจหลักในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างต้องโทษควบคู่ไปกับการควบคุม เมื่อพิจารณาข้อมูลพบว่าหลักสูตรการจัดการศึกษาสำหรับผู้ต้องขัง วัยหนุ่มในเรือนจำต่างประเทศมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยมีการเรียนสายสามัญ ตั้งแต่การสอนให้อ่านออกเขียนหนังสือได้ จนถึงระดับอุดมศึกษา และการเรียนสายวิชาชีพ เพื่อให้ได้รับความรู้ ทักษะนำไปประกอบเป็นอาชีพภายหลังพ้นโทษ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามความสนใจให้กับผู้ต้องขัง โดยได้นำทฤษฎีการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ของมัลคัม โนลส์ (Malcolm Knowless) เข้ามาเป็นแนวคิดที่ว่าผู้ใหญ่จะถูกชักจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี หากว่าตรงกับความต้องการและความสนใจในประสบการณ์ที่ผ่านมา และผู้ใหญ่ไม่เรียนรู้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องในชีวิตสิ่งที่เกี่ยวข้องนั้นถ้าเป็นความต้องการและความสนใจ สิ่งนั้นจะทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะเรียน (สุวัฒน์ วัฒนวงศ์ .2551 : 68)
แนวคิดทฤษฎีมนุษยนิยม(Humanism) เป็นทฤษฎีที่มีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์มีความดี มีคุณค่าต่อการยอมรับมนุษย์ มีความต้องการที่จะมุ่งไปสู่ความเข้าใจในศักยภาพของตนเอง ถ้าสภาพสิ่งแวดล้อมของเขาดีพอหรือเอื้ออำนวย คาร์ล โรเจอร์ (Carl Rogers) นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์โดยพื้นฐานเป็นผู้มีเหตุผลสามารถที่จะตัดสินใจด้วยตนเองได้ มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีความดี เชื่อถือและไว้วางใจได้ มนุษย์ยังมีความเฉลียวฉลาดในการปรับตัว และต้องการความเป็นอิสระในการที่จะพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้า และได้เสนอวิธีการสอนที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Centered Approach) ที่นำมาเป็นหลักการสอนผู้ใหญ่เป็นวิธีการเปลี่ยนจากอำนาจของครูแบบเก่า มาสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับผู้เรียนในฐานะเพื่อนร่วมเรียน ครูเป็นผู้สร้างบรรยากาศของการยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และแนวคิดของมาสโสว์ (Abraham H.Maslow) เกี่ยวกับการเข้าใจตนเองหมายถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผู้ที่มีความเข้าใจในตนเองจะเป็นผู้ที่นำตนเองไปสู่โลกภายนอกและพยายามปรับปรุงพัฒนาตนเอง มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (สมบูรณ์ ศาลยาชีวิน . 2526 : 137-138)
คาร์ล โรเจอร์ (Carl Rogers) ได้เสนอหลักการเรียนรู้แบบมนุษยนิยมไว้ในหนังสือชื่อว่า Freedom to Learn (Rogers , 1969 .อ้างถึงใน สุรางค์ โค้วตระกูล . 2544 .334 – 335) โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้เรียนรับรู้ว่าวิชาที่เรียนมีความหมายและ มีความสัมพันธ์ต่อจุดมุ่งหมายของชีวิตผู้เรียน ผู้เรียนจะต่อต้านการเรียนรู้ที่รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนความรู้สึกเกี่ยวกับ “ตน” (Self) การเรียนรู้ที่สำคัญมักจะเกิดจากการลงมือกระทำของผู้เรียนเอง (Learning by Doing) ถ้านักเรียนมีส่วนร่วม และมีความรับผิดชอบในกระบวนการเรียนรู้จะช่วยในการเรียนรู้ของนักเรียนมากขึ้น เมื่อนักเรียนเป็นผู้ริเริ่มการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยทุ่มเททั้งด้านความรู้สึกและสติปัญญาจะเป็นผลให้นักเรียนอยากเรียนรู้มากขึ้นอยู่ตลอดเวลา การส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินผลสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเองจะช่วยให้ผู้เรียนมีความคิดอิสระเป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองและมีความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อการมีชีวิตอยู่คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ (Process of Learning) หรือเรียนรู้อย่างไร และผู้เรียนจะต้องกล้าที่จะเปิดโอกาสให้ตนเองมีประสบการณ์ใหม่ และพยายามที่จะรับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และ มัลคัม โนลส์ (Malcolm Knowless) ที่เชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านอารมณ์ จิตวิทยาและสติปัญญา โดยเสนอหลักการสอนผู้ใหญ่(Andragogy) ปี ค.ศ.1970 1)มโนทัศน์ของผู้เรียน ผู้ใหญ่จะพึ่งพาตนเองในการกำหนดความต้องการในการเรียน และประเมินผลการเรียนด้วยตนเอง 2)ประสบการณ์ของผู้ใหญ่เป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ 3)ผู้ใหญ่จะมีความพร้อมในการเรียนเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต ความต้องการและความสนใจที่เกิดจากตัวผู้ใหญ่ 4) การนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที (ปฐม นิคมมานนท์ .2543 :297)
หลักการสอนกลุ่มมนุษยนิยม เน้นการเรียนรู้ของบุคคลมากกว่าการถ่ายทอดข้อมูล และองค์ความรู้ ให้ความสำคัญของการเรียนรู้ด้านเจตพิสัย (Affective Domain) และการเรียนรู้ด้านพุทธิ-พิสัย (Cognitive Domain) การเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บรรยากาศของห้องเรียน และความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนมีความสำคัญมาก นักเรียนและครูต้องมีความไว้วางใจซึ่งกัน และกัน ครูมีหน้าที่เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นผู้ที่ยอมรับนักเรียนในฐานะปัจเจกบุคคล วิธีสอนที่ใช้เป็นการสอนแบบ Open Education โดยจัดประสบการณ์ให้มีความท้าท้ายสติปัญญาของนักเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สำรวจและค้นพบและเรียนรู้ มีความสนุกในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแรงเสริมภายในที่จะทำให้นักเรียนใฝ่หาความรู้ไปตลอดชีวิต (สุรางค์ โคว้ตระกูล . 2544 . 337)
นำเสนอ
จากการวิเคราะห์แนวคิดมนุษยนิยมพบว่ามีเป้าหมายในการพัฒนามนุษย์ให้เต็มศักยภาพ มองว่ามนุษย์มีธรรมชาติเป็นคนดี มีเสรีภาพในการพัฒนาและเจริญเติบโต และมองมนุษย์ในด้านบวก ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาผู้ใหญ่และเหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในกลุ่มผู้ต้องขังวัยหนุ่ม ( Young Prison) ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่เคยก้าวพลาดกระทำความผิด ทั้งนี้ ทรัพยากรมนุษย์กลุ่มนี้ ด้วยช่วงอายุที่คงเหลืออีกมาก ตลอดจนกำลังกายยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ จึงควรได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองให้กลับตนเป็นคนดี ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุให้ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยเป้าหมายภายใน พ.ศ.2561” โดยกำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยเน้นประเด็นหลัก 3 ประการ คือ 1) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย 2) การให้โอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้อยู่เนื่องตลอดชีวิต 3)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริการและจัดการศึกษา โดยเพิ่มบทบาทของผู้ที่อยู่ภายนอกระบบการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ . 2552 : 11 – 12) ซึ่งจากประเด็นดังกล่าวนั้น ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ต้องขังซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งของประเทศด้วย
แนวทางการจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขังวัยหนุ่มของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมาพบว่ายังไม่สามารถพัฒนาการผู้ต้องขังวัยหนุ่มได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังที่มีทะเบียนประวัติการกระทำความผิดซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 19 – 35 ปี (อายุเฉลี่ย 32 ปี) พบว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างเคยต้องโทษขณะเป็นวัยรุ่นสูงสุด 11 ครั้ง (ข้อมูลจากกองบริการทางการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ . 2550 . 2) จากข้อมูลดังกล่าววิเคราะห์ได้ว่าเป็นความล้มเหลวเนื่องมาจากการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังวัยหนุ่มของกรมราชทัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้ต้องขังวัยหนุ่มบางส่วนต้องหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ และจากการสรุปผลการจัดการการศึกษาผู้ต้องขัง เดือนเมษายน ปี 2554 (ส่วนส่งเสริมการศึกษา . 2554) พบว่าประสบปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน ที่เป็นผลต่อเนื่องทำให้การพัฒนาแก้ไขผู้ต้องขังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ กล่าวคือ ด้านงบประมาณ กรมราชทัณฑ์ไม่ใช่สถาบันการศึกษาจึงไม่สามารถจัดทำงบประมาณสำหรับบริหารการศึกษาโดยตรงได้ ต้องอาศัยงบประมาณจากหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมดำเนินการ ทำให้การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้กับผู้ต้องขังไม่ทั่วถึง ด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาส่วนใหญ่ขาดวุฒิทางการศึกษา ทำให้การจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขังไม่มีประสิทธิภาพ ด้านหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ไม่มีหลักสูตรการศึกษาเป็นของตนเองต้องอาศัยหลักสูตรของหน่วยงานที่เข้าไปดำเนินการร่วม เช่น สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นต้น หลักสูตรเหล่านี้เป็นหลักสูตรที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ใช้กับนักเรียน/นักศึกษาทั่วไป แต่ในความเป็นจริงลักษณะของหลักสูตรที่จัดให้ผู้ต้องขังได้เรียนควรจะมีความเฉพาะหรือแตกต่างไปจากสถานศึกษาอื่นๆ เพราะองค์ประกอบทางด้านกายภาพตลอดจนสิ่งแวดล้อมหรือบริบทของนักเรียนที่เป็นผู้ต้องขังกับนักเรียนโดยทั่วไป มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง (ส่วนส่งเสริมการศึกษา กรมราชทัณฑ์. 2554 : 2)
จากสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเหล่านี้ ทำให้กรมราชทัณฑ์ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งเรือนจำเพื่อการศึกษา โดยนำกระบวนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ เป็นแนวทางปฏิบัติหลักในการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง มีกลุ่มเป้าหมายนำร่องเป็นผู้ต้องขังวัยหนุ่ม กำหนดจัดสร้างเรือนจำเป็นการเฉพาะ จัดโครงสร้างระบบการปกครอง และสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำให้เป็นในลักษณะโรงเรียนประจำ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จัดแบ่งแต่ละแดนตามระดับการศึกษา ได้แก่ แดนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้เรียนระดับผู้ไม่รู้หนังสือ – มัธยมศึกษาตอนปลาย แดนอาชีวศึกษาสำหรับผู้เรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แดนอุดมศึกษา สำหรับผู้ต้องขังที่เรียนระดับปริญญาตรี – ปริญญาโท แดนพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาแดนตรี สำหรับผู้ต้องขังที่สนใจศึกษาเป็นการเฉพาะในสาขาด้านกีฬา(มวยสากล-ไทย)และด้านดนตรี (ไทย-สากล) ไม่มีการฝึกวิชาชีพหรือใช้แรงงานรับจ้างผู้ต้องขัง การเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการใช้เรือนจำเพื่อการลงโทษผู้กระทำผิดมาเป็นเพื่อการแก้ไขอบรมผู้กระทำความผิดให้กลับสู่สังคม รูปแบบและกิจกรรมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำจึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเน้นการควบคุมอย่างเคร่งครัดมาสู่การจัดกิจกรรมในเชิงแก้ไข เช่น การให้การศึกษา การฝึกวิชาชีพและการจัดสวัสดิการ เป็นต้น ดังนั้น เรือนจำจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือในการที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดพัฒนาพฤตินิสัยในทิศทางที่ถูกต้อง โดยมีระบบและกระบวนการดำเนินงานที่เหมาะสมเพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของงานราชทัณฑ์ (นัทธี จิตสว่าง .ม.ป.ป.: 43) จากการศึกษาข้อมูลดังกล่าวได้นำมาวิเคราะห์เพื่อนำสู่ประเด็นในการศึกษาแนวทางการพัฒนาเรือนจำเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผู้ต้องขังวัยหนุ่ม ดังนี้
ประเด็นที่ศึกษา
สภาพปัญหา
เรือนจำประเทศไทย
รูปแบบของเรือนจำ
ในต่างประเทศ
ทิศทางการพัฒนา
ตามแนวคิดมนุษยนิยม
หลักการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขังวัยหนุ่ม
-ไม่มีการกำหนดแนวคิดการเรียนรู้ที่เป็นการเฉพาะที่เหมาะสมกับการพัฒนาผู้ต้องขังวัยหนุ่ม
-ไม่มีหลักสูตรการศึกษาเป็นของตนเองต้องอาศัยหลักสูตรของหน่วยงานภายนอก เช่น กศน. มสธ. ซึ่งไม่เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนที่เป็นผู้ต้องขัง
– จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้ต้องขังโดยส่วนใหญ่เน้นหลักสูตรส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้
– เน้นหลักสูตรพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำไปใช้ภายหลังพ้นโทษได้
– มีหลักสูตรการเรียนทางไกลสำหรับผู้ต้องขังระดับอุดมศึกษา
1)ควรมีการกำหนดแนวคิดการเรียนรู้ สำหรับผู้ต้องขังวัยหนุ่มโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นคนดี มีเสรีภาพในการพัฒนาและเจริญเติบโต ให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ การให้โอกาสในการพัฒนาศักยภาพ
2) กำหนดหลักสูตรการศึกษา/เรียนรู้ด้านเจตพิสัย ด้านพุทธิพิสัย สำหรับผู้ต้องขังวัยหนุ่ม
ประเด็นที่ศึกษา
สภาพปัญหา
เรือนจำประเทศไทย
รูปแบบของเรือนจำ
ในต่างประเทศ
ทิศทางการพัฒนา
ตามแนวคิดมนุษยนิยม
กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรม
-ไม่มีการกำหนดรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังวัยหนุ่ม
-ไม่มีการกำหนดรูปแบบการดำเนินกิจกรรมด้านพัฒนาพฤติกรรมที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ
1)มีการออกแบบและผลิตชุดอ่านนิยาย บทกวีสำหรับผู้ต้องขัง
2)จัดตั้งชมรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ชมรมกีฬา ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
3)จัดให้มีโปรแกรมพัฒนาพฤติกรรมผู้ต้องขังแต่ละคดี
ควรกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมที่มีกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือกระทำของผู้เรียนเอง(Learning by Doing) เน้นการเรียนรู้ของบุคคลมากกว่าการถ่ายทอดข้อมูลและองค์ความรู้ นำประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้
การจัดปัจจัยเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้
โครงสร้างภายในเรือนจำไม่เอื้อต่อการจัดการศึกษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาไม่มีวุฒิทางการศึกษา
ประเทศสิงคโปร์ได้จัดตั้งเรือนจำโรงเรียนเป็นการเฉพาะโดยจัดสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำให้เป็นลักษณะโรงเรียน และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของเรือนจำที่มีวุฒิทางการศึกษาและอาสาสมัครเป็นครูผู้สอน จัดสิ่งอำนวยการความสะดวกต่อการเรียนรู้
ควรมีการกำหนดปัจจัยการจัดการเรียนรู้ของผู้ต้องขังวัยหนุ่มในบริบทของเรือนจำ การจัดสภาพแวดล้อมบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีจะเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในด้านต่างๆ
การประเมินผลการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรม
-การประเมินผลการเรียนรู้ยึดตามเกณฑ์ของหน่วยงานภายนอก ซึ่งหลักเกณฑ์การประเมินไม่สอดคล้องกับบริบทผู้เรียนที่เป็นผู้ต้องขังวัยหนุ่มและการประเมินผลด้านพฤติกรรมไม่มีความชัดเจนและไม่มีประสิทธิภาพ
-วุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรที่ได้รับ ไม่เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานภายนอกและ ไม่สามารถเทียบโอนได้
1)กำหนดให้ผู้ต้องขังสอบเพื่อประเมินสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
2)กำหนดให้ผู้ต้องขังวัยหนุ่มเรียนวิชาชีพเพื่อพัฒนาทักษะเมื่อเรียนสำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งสามารถนำไปใช้สมัครงานและประกอบอาชีพภายหลังพ้นโทษได้
ควรกำหนดหลักการประเมินผล วิธีการประเมินผล โดยยึดผลการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ต้องขัง และการปฏิบัติตนในกิจวัตรประจำวันของผู้ต้องขังควบคู่กันไปตลอดจนการกำหนดมาตรฐานของการประเมินผลให้มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภายนอก
บทส่งท้าย
ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาเรือนจำเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้ต้องขังวัยหนุ่ม เพื่อนำไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้ต้องขังวัยหนุ่มในภาพรวม ตลอดจนมุมมองในมิติต่าง ๆ และเป็นแนวทางนำไปสู่การจัดตั้งเรือนจำเพื่อการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ กรมราชทัณฑ์ ในการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เป็นลักษณะเฉพาะงานราชทัณฑ์ประเทศไทย ให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาขณะต้องโทษ สามารถกลับตนเป็นพลเมืองที่ดี คืนสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ไม่หวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ สร้างภาระให้กับสังคมอีกต่อไป ตลอดจนหน่วยงานในเครือข่ายกระทรวงยุติธรรม เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการจัดแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนที่กระทำความผิด และผู้ที่ถูกคุมประพฤติได้
บรรณานุกรม
กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย. (2525) .ประวัติราชทัณฑ์ 200 ปี. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ราชทัณฑ์ เรือนจำกลางคลองเปรม
กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ . (2544) . การศึกษาตามอัธยาศัยแนวความคิดและประสบการณ์ . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , สมเด็จพระ . (2545) . สมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาเรื่อง การศึกษาของผู้ด้อยโอกาส . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ . ถ่ายเอกสาร
แดนไท เจริญ. (2544) .ความคิดเห็นของผู้ต้องขังเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญในเรือนจำพิเศษธนบุรี .ปริญญานิพนธ์ กศ.ม.,กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
นัทธี จิตสว่าง . (ม.ป.ป.) . หลักทัณฑวิทยา :หลักวิเคราะห์ระบบงานราชทัณฑ์ . กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์ กรมราชทัณฑ์
ปฐม นิคมานนท์ . (2543) .ปรัชญาการศึกษานอกระบบ การศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษานอกระบบ .นนทบุรี :สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สุรางค์ โคว้ตระกูล . (2544) . จิตวิทยาการศึกษา . กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุวัฒน์ วัฒนวงศ์ . (2551) . รวมบทความแนวคิดทางอาชีวศึกษาและการศึกษาผู้ใหญ่ . กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุนทร สุนันท์ชัย ; และคนอื่น ๆ . (2532) . การศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษานอกระบบ . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สำนักงานนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ . (2542). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 .กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สมบูรณ์ ศาลยาชีวิน . (2526) . จิตวิทยาเพื่อการศึกษาผู้ใหญ่ .เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์
ส่วนส่งเสริมการศึกษา สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ . (2551) . เอกสารสรุปผลการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขังประจำปี 2551 . นนทบุรี : อัดสำเนา
ส่วนส่งเสริมการศึกษา สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ . (2554) . เอกสารการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องขัง เดือนเมษายน ประจำปี 255 4 . นนทบุรี : อัดสำเนา
HM Prison Service . (2006) . Annual report and accounts April 2005 – March 2006 . London : The Station Office.
อ่านเอกสารเพิ่มเติมในรูปแบบ pdf
(หากไม่สามารถอ่านหรือดาวน์โหลดได้ โปรดติดตั้ง acrobat reader ในเครื่องของท่านก่อน)