ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นมงคลสมัยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา กรมราชทัณฑ์ ได้ถือเป็นปีเริ่มต้นของการพัฒนาห้องสมุดในเรือนจำ/ทัณฑสถาน เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เพียบพร้อม มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการกับกลุ่มเป้าหมายได้ตามบทบาทและภารกิจของห้องสมุดได้จัดทำโครงการปรับปรุงห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถานเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยน้อมนำแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานในพระองค์ท่านในการที่จะทำให้ประชาชนทั่วประเทศรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ ให้ทุกคนรักการอ่าน การเขียน ส่งเสริมสนับสนุนให้พสกนิกรได้มีโอกาสหาความรู้จากการอ่านหนังสือมาดำเนินการให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม
"ห้องสมุดพร้อมปัญญา" เป็นนามพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับห้องสมุดเรือนจำ
/ทัณฑสถานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งจะเป็นห้องสมุดที่มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์สากล เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีห้องสมุดในเรือนจำ/ทัณฑสถาน และพัฒนาห้องสมุดที่มีอยู่แล้ว ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถาน พร้อมที่เป็นห้องสมุดพร้อมปัญญา โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 53 แห่ง ในปี พ.ศ. 2548 และให้ครบทุกแห่งภายในปี พ.ศ.2550
ห้องสมุดพร้อมปัญญา จัดเป็นห้องสมุดเฉพาะ มีภารกิจในการให้บริการทรัพยากรสารสนเทศกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ สนับสนุนภารกิจกรมราชทัณฑ์ ในด้านการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองดีคืนสู่สังคมมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ใน การให้บริการทางวิชาการ ข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ สนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษา อบรม ทั้งวิชาสามัญ วิชาชีพ และ ศีลธรรมจรรยา ตอบสนองความต้องการด้านการพักผ่อนหย่อนใจ และ การผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับผู้ต้องขัง ตลอด จนการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีโอกาสสัมผัสกับโลกภายนอกได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ บ้านเมืองในทางที่ทันสมัย และ เป็นประโยชน์ผ่านสื่อต่าง ๆ
ด้านการบริการ
1. กำหนดให้มีอาคาร ห้องสมุดกลางที่มีสื่อทรัพยากรสารสนเทศและวัสดุครุภัณฑ์ห้องสมุดอย่างเหมาะสม ครบถ้วนตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถาน และจัดบริการห้องสมุดย่อยตามแดนต่าง ๆ ตลอดจนห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยหมุนเวียนสื่อทรัพยากรสารสนเทศจากห้องสมุดกลางไปให้บริการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของเรือนจำ
2. ให้มีการจัดเก็บสถิติผู้ใช้บริการห้องสมุดอย่างเป็นระบบ เปิดให้ผู้ใช้บริการได้แสดงความคิดเห็น ข้อ เสนอแนะในด้านต่างๆเพื่อประกอบ
การพิจารณาปรับปรุงกิจการห้องสมุดให้มีความเจริญก้าวหน้าและสนองความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างแท้จริง
3. ให้ มีบริการด้านต่างๆ เช่น เดียวกับห้องสมุดทั่วไป อาทิ ด้าน การอ่าน การ ส่งเสริมการใช้ห้องสมุดประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ และ ผู้ต้องขังให้สมัครเป็นสมาชิกห้องสมุดเปิดโอกาสให้ได้ยืมหนังสือออกไปอ่านนอกห้องสมุดได้ครั้งละ 1-3 เล่ม 4. กำหนด เวลาให้บริการที่แน่นอน สัปดาห์ละ ไม่ต่ำกว่า 5 วัน ๆ ละ ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับในวันหยุดให้จัดบริการเป็นพิเศษ นอกจากนี้กำหนด
ให้มีบริการพิเศษด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องขัง โดยจัดบุคลากรที่มีความรู้ด้านกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ประจำห้องสมุด หรือ เชิญผู้ที่มีความรู้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้คำปรึกษา แนะ นำ ปัญหา กฎหมายแก่ผู้ต้องขัง และจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน โดย ตั้งเป้าหมายให้เรือนจำ/ทัณฑสถานปลอดผู้ไม่รู้หนังสือ
ด้านอาคารสถานที่
1. จัดเป็นห้องเฉพาะในอาคาร หรือเป็นอาคารเอกเทศ มีสภาพแวดล้อมที่ดี แสงสว่าง อากาศถ่ายเทสะดวกปราศจากเสียงรบกวน อยู่ในบริเวณที่สะดวกเหมาะสมแก่การเข้ามาใช้บริการและการดูแลรักษาความ ปลอดภัย มีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 150 ตารางเมตร โดยรวมพื้นที่บริการด้านการอ่านเข้าไปด้วย กรณี ห้องสมุดใดไม่สามารถจัดพื้นที่จุดเดียวได้ถึง 150 ตารางเมตร ให้กระจายบริการ และกิจกรรมห้องสมุดบางส่วนไปยังพื้นที่อื่นที่ใกล้เคียง ตามความเหมาะสม ซึ่งจะถือว่า บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด เมื่อรวมพื้นที่แล้วต้องไม่น้อย กว่า 150 ตารางเมตร
2. ตกแต่งภายในและนอกอาคารห้องสมุดให้มีความสวยงาม ร่มรื่น มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น มีสภาพภูมิทัศน์ที่ดึงดูดใจ เชิญชวนให้เข้ามาใช้บริการ
ด้านการแบ่งพื้นที่ใช้สอย
นอกจากการแบ่งพื้นที่ใช้สอยในห้องสมุดให้เป็นพื้นที่ ทำงานบรรณารักษ์ พื้นที่จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศตามหมวดหมู่ทศนิยมของดิวอี้ พื้นที่บริการด้านการอ่าน บริการโสตทัศนูปกรณ์แล้ว ยังกำหนด ให้แบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในห้องสมุดเป็นมุมต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่
1. มุมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดไว้บริเวณส่วนหน้าของห้องสมุด จัดตกแต่งให้มีความสวยงาม สมกับเป็นมุมประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้พระราชทานไว้ให้กับห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถานทุกแห่ง ให้ผู้ต้องขังและผู้ที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุดได้ถวายความเคารพและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อจะได้เตือนใจให้เร่งประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี และให้รวบรวม จัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์ จัดนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า
2. มุมวิชาการและกฎหมาย รวบรวมเอกสาร ตำราวิชาการ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย ไว้ให้บริการเป็นมุมเฉพาะ เพื่อให้สะดวกแก่การค้นคว้า
3. มุมส่งเสริมจริยธรรม มุมส่งเสริมการอ่าน มุม มสธ. เป็นต้น
ทรัพยากรสารสนเทศ
1. ทรัพยากรสารสนเทศนอกจากจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแล้ว จะต้องตอบสนองภารกิจด้านการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง และเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมราชทัณฑ์ เรื่องห้องสมุดของเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ พ.ศ. 2499 เช่น ไม่มีลักษณะเป็นการยั่วยุจิตใจให้กำเริบ ก่อให้เกิดความประพฤติในทางชั่วร้าย ผิดศีลธรรม ก่อให้เกิดความรู้สึกทางกามารมณ์ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของเรือนจำ/ทัณฑสถาน เป็นต้น
2. ประเภทและจำนวนหนังสือ ในระยะเริ่มต้นกำหนดให้มีหนังสือที่คัดเลือกว่ามีความเหมาะสมแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3,000 รายการ และให้จัดหาเพิ่มเติมร้อยละ 5 ของจำนวนหนังสือที่มีอยู่ในแต่ละปี โดยให้มีสัดส่วนของหนังสือประเภทต่างๆ ดังนี้
หนังสือเกี่ยวกับวิชาชีพ ร้อยละ 30
ศาสนา ศีลธรรมจรรยา ร้อยละ 20
บันเทิง ร้อยละ 20
สารคดี วิชาการทั่วไป ร้อยละ 15
กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 15
3. วารสาร บอกรับวารสาร และนิตยสารที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ ศีลธรรมจรรยา กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อย 5 รายการ (ไม่นับรวม วารสาร และนิตยสารที่ได้เปล่า)
4. หนังสือพิมพ์ บอกรับหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 3 ฉบับ
5. โสตทัศนูปกรณ์ จัดให้มีบริการโสตทัศนูปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เทปบันทึกเสียง ซีดี ซีดีรอม ตลอดจนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตามความเหมาะสมไม่ต่ำกว่า 100 รายการ
6. จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศแบบทศนิยมของดิวอี้ หรือระบบอื่นตามความเหมาะสมในระยะแรก
ด้านบุคลากร
จัดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเคยผ่านการศึกษาอบรมด้านบรรณารักษ์ จากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย หรือจากสถาบันอื่น ปฏิบัติงานประจำห้องสมุดพร้อมปัญญาไม่น้อยกว่า 1 คน และจัดให้ผู้ต้องขังที่มีความรู้ ความสามารถ มีความประพฤติดีช่วยงานห้องสมุดตามความเหมาะสม
ด้านงบประมาณ
1. งบประมาณการปรับปรุงอาคารสถานที่ห้องสมุด ให้ใช้เงินนอกงบประมาณของเรือนจำ/ทัณฑสถาน และเงินบริจาคเป็นหลัก ส่วนแรงงานที่ใช้ในการก่อสร้างซ่อมแซมต่าง ๆ ใช้แรงงานผู้ต้องขัง
2. งบประมาณอุดหนุนประจำปี อาทิ ค่าจัดซื้อ ซ่อมแซมทรัพยากรสารนิเทศ วัสดุ ครุภัณฑ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการอื่น ๆ ห้องสมุดแต่ละแห่งจะต้องจัดหาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เฉลี่ยต่อหัวผู้ใช้บริการอย่างน้อย 10 บาท ต่อผู้ต้องขัง 1 คน ซึ่งส่วนหนึ่งกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาจัดสรรสมทบ
ด้านการติดตามผล
ลักษณะ ที่ 1 การประเมินผลตามเกณฑ์มาตรฐานห้องสมุดสำหรับเรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยคณะกรรมการประเมินผลห้องสมุดที่กรมราชทัณฑ์แต่งตั้งขึ้น คณะละ 5-6 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางประจำเขตหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาพัฒนา มสธ.จังหวัดในเขตพื้นที่หรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดหรือ ผู้แทน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบห้องสมุดประจำจังหวัด หรือบุคลากรจากสถาบันการศึกษาในพื้น จะทำการประเมินห้องสมุดเมื่อเรือนจำ/ทัณฑสถาน มีความพร้อม และแจ้งขอรับการประเมินห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการ และกรมราชทัณฑ์พิจารณาเห็นสมควร จะทำเรื่องขอพระราชทานพระราชานุญาตใช้ชื่อ "ห้องสมุดพร้อมปัญญา" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หากได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจะได้รับป้ายชื่อห้องสมุดพร้อมปัญญา ซึ่งจะอัญเชิญตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และอักษรพระนามาภิไธยย่อ "ส.ธ." ประดิษฐานไว้ด้วย
ลักษณะที่ 2 การติดตามประเมินผลห้องสมุดประจำปี โดยกรมราชทัณฑ์ร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ลักษณะที่ 3 การติดตามประเมินผล เพื่อยกระดับห้องสมุดตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถานที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ