โครงการเทคโนโลยีบัณฑิต

 จากการที่คณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มีนโยบายขยายทางการศึกษาของผู้ต้องขังจากส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาวิชาชีพคอมพิวเตอร์ระยะสั้นซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้วไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา…

 

            จากการที่คณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มีนโยบายขยายทางการศึกษาของผู้ต้องขังจากส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาวิชาชีพคอมพิวเตอร์ระยะสั้นซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้วไปสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของผุ้ต้องขังให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างแท้จริง จึงได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ศึกษาต่อหลักสูตร“เทคโนโลยีบัณฑิต แขนงวิชาเทคโนโลยีพณิชยกรรม”ขึ้น           หลักสูตรดังกล่าว เป็นแขนงวิชาหนึ่งของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแต่เดิม มหาวิทยาลัยไม่ให้ผู้ต้องขังสมัครเรียนสาขาวิชานี้ เนื่องจากมีรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์ ดังนั้นวิธีการศึกษาจึงแตกต่างไปจากสาขาวิชาอื่นๆ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนแบบทางไกลได้ ผู้เรียนตามหลักสูตรนี้จะต้องเข้าชั้นเรียน และมีห้องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้เพื่อการศึกษา 1 คนต่อ 1 เครื่อง ดังนั้น ในระยะแรกของการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อได้ (ปี พ.ศ 2548) จึงมีการจัดการเรียนการสอนเฉพาะเรือนจำ/ทัณฑสถาน 3 แห่งที่มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้นักศึกษาได้ใช้เพียงพอแก่การจัดการศึกษา ได้แก่

  1. เรือนจำกลางคลองเปรม  (15 คน)
  2. ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง (16 คน)
  3. ทัณฑสถานหญิงกลาง (18 คน) 

  

 

 

 

          เนื่องจากเป็นโครงการที่สืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงต้องคัดกรองผู้ต้องขังที่จะเข้าเรียนเป็นกรณีพิเศษ การอนุญาตให้สมัครเรียน เรือoจำ/ทัณฑสถานต้นสังกัดจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและรับรองความประพฤติของผู้ต้องขังว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี มีวิริยะอุตสาหะ ไม่อยู่ระหว่างการลงโทษทางวินัย เป็นต้น มายังกรมราชทัณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณา เพื่อมีหนังสืออนุญาตและมหาวิทยาลัยตอบรับเข้าเป็นนักศึกษาแล้ว ก็จะย้ายผู้ต้องขังนั้นๆมาศึกษาต่อที่เรือนจำ/ทัณฑสถานทั้งสามแห่ง

          ในปี พ.ศ.2553 ในการประชุมร่วมกันระหว่างกรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้มีมติร่วมกันว่า ปัจจุบัน เรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศ มีคอมพิวเตอร์สำหรับให้ผู้ต้องขังใด้ใช้เพื่อการศึกษาครบทุกแห่ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องย้ายผู้ต้องขังเข้ามาศึกษาต่อยังเรือนจำ/ทัณฑสถานทั้งสามแห่งในเขตกรุงเทพมหานคร แต่จะมีการย้ายมาเพื่อฝึกปฏิบัติเสริมทักษะเป็นการชั่วคราวตามวัน เวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนดเท่านั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมจากแนวทางปฏิบัติสำหรับการศึกษา มสธ. สำหรับการศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีไว้โดยเฉพาะ(ตามหนังสือกรมราชทัณฑ์ ที่ ยธ 0704/197 ลงวันที่ 29 มกราคม 2553 เรื่อง การจัดการศึกษาแก่ผู้ต้องขังในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไว้ดังนี้

 

 

แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต

 

การศึกษาหลักสูตร หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต วิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นโครงการสืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ นอกเหนือจากแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยทั่วไปแล้ว ให้เรือนจำ/ทัณฑสถานดำเนินการดังนี้

  • เกี่ยวกับการสมัครเรียน/การขอเปลี่ยนสาขาวิชาอื่นมาเป็นสาขาวิชานี้ ให้เรือนจำ/ทัณฑสถานต้นสังกัดเป็นผู้พิจารณาในเบื้องต้น โดยพิจารณาจากความประพฤติส่วนตัว ความขยันหมั่นเพียร  มีความตั้งใจจริง ใฝ่ใจในการศึกษา ไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาหรือถูกลงโทษทางวินัย และมีคุณสมบัติตรงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดสำหรับนักศึกษาหลักสูตรนี้ (ดูจากคู่มือนักศึกษาโดยละเอียด) มีเอกสารหลักฐานครบถ้วน เช่น สำเนาประกาศนียบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น
  • หากเรือนจำ/ทัณฑสถานเห็นควรให้สมัครเรียน ให้ทำเรื่องขออนุญาตสมัครเรียนไปยังกรมราชทัณฑ์ โดยแนบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ต้องขังตามแบบรายงานการศึกษา(รกศ.7ข) และหนังสือรับรองความประพฤติเพื่อประกอบการพิจาณา ทั้งนี้ ให้แยกขออนุญาตต่างหากจากผู้ต้องขังที่ประสงค์สมัครเรียนสาขาวิชาอื่นๆ
  • ให้นำหนังสืออนุญาตให้สมัครเรียนจากกรมราชทัณฑ์ไปดำเนินการสมัครเรียนให้แก่ผู้ต้องขังกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการสมัครและลงทะเบียนเรียนให้แก่ผู้ต้องขัง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมดผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบ
  • กำหนดเวลาเรียนในภาคเช้า หรือบ่าย ตามที่เห็นสมควร จัดคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการศึกษาให้ผู้ต้องขังได้ทำแบบทดสอบตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

 

หมายเหตุ  ปัจจุบันสาขาวิชานี้ ได้มีการปรับปรุงเป็น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต แขนงวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (หลักสูตรปรับปรุง (Bachelor of Science, Study Area : Information and Communication Technology)   เริ่มเปิดสอนปีการศึกษา 2556)  วิชาเอก เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ (Business Information Technology)

 

 

 

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *