โทษประหารชีวิต ยับยั้งอาชญกรรมได้จริงหรือไม่?

          โดยปกติ โทษอาญาที่ใช้ลงแก่ผู้กระทำผิดมี 5 ประการ คือการประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน โทษประหารชีวิต ถือเป็นโทษสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ที่ถูกพิพากษา ต้องถูกทำให้เสียชีวิตตามวิธีที่กำหนดไว้ในกระบวนการยุติธรรม การลงโทษประหารชีวิตในอดีต จะมีอยู่หลายวิธี แล้วแต่ลักษณะความผิดที่กระทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้ากระทำความผิด เช่น การตัดศรีษะ การเผาทั้งเป็น การขุดหลุมฝังทั้งเป็น หรือการทรมานจนกว่าจะตายด้วยวิธีการอื่นๆ   ในปัจจุบัน ทั่้วโลกได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการลงโทษ จากการลงโทษเพื่อเป็นการแก้แค้นแทนเหยื่อมาสู่การลงโทษเพื่อการระงับยับยั้งมิให้บุคคลนั้นก่ออาชญากรรมขั้นในสังคมได้อีก โทษประหารชีวิตจึงมุ่งเน้นวิธีการที่การทำให้ผู้ถูกลงโทษเสียชีวิตอย่างสงบ รวดเร็ว และดูไม่โหดร้ายเป็นหลัก การประหารชึวิตที่เป็นหลักในปัจจุบัน จึงมีอยู่ 5 วิธีด้วยกัน ได้แก่          

  1. การฉีดสารพิษเข้าร่างกาย 
  2. การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า
  3. การประหารโดยการรมแก๊ส
  4. การแขวนคอ
  5. การยิงเป้า
          อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเทศอิสลามหลายประเทศยังใช้กฎหมายชาเรียหรือกฎหมายอิสลามที่เคร่งครัด มีวิธีการประหารชีวิตด้วยการขว้างด้วยหินควบคู่ไปกับการประหารด้วยวิธีอื่น เช่น ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิตด้วยการตัดศรีษะ ได้แก่ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย เยเมน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
          โทษประหารชีวิต ได้ถูกยกเลิกไปแล้วถึง 139 ประเทศ ได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปทั้งหมด (ในทวีปยุโรปมีเพียงประเทเบลารุซเท่านั้นที่มีโทษประหารชีวิต) ในทวีปอเมริการเกือบทั้งหมด (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) และกระจายอยู่ในภูมิภาคอื่นๆทั่วไป (จาก  http://www.deathpenalty.org/article.php?id=81) อาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
 

          กลุ่มที่ 1  ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท (95 ประเทศ)
          กลุ่มที่่ 2  ยกเลิกสำหรับอาชญากรรมทั่วไป คงไว้เฉพาะบางกรณ๊ เช่น อาชญากรรมภายใต้กฏหมายทหารหรือในสถานการณ์พิเศษ (9 ประเภท)
          กลุ่มที่ 3  ประเทศที่คงโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมาย แต่ไม่มีการนำมาใช้ (35 ประเทศ)

          ส่วนประเทศที่ยังคงมีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้ มีเพียง 58 ประเทศเท่านั้น รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่มีแนวโน้มที่จำนวนผู้ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตจะลดลงเรื่อยๆ สาเหตุที่หลายๆประเทศ ยกเลิกการประหารชีวิตสืบเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น

  • ปัญหาการตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ มีผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว ภายหลังถูกตัดสินให้พ้นจากความผิดเนื่องจากพบหลักฐานว่าเขาไม่ได้กระทำผิด ในสหรัฐอเมริกาเอง นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีัวิตแล้ว กว่าศาลจะกลับคำตัดสินให้พ้นจากความผิด ใช้เวลาเฉลี่ยถึง 9.8 ปี และบางครั้งการถูกตัดสินประหารชีวิตเกิดจากกระบวนการด้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง 
  • ต้นทุนที่สูงสำหรับการตัดสินโทษประหารชีวิต เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้กระบวนการที่ซับซ้อนและระยะเวลาอันยาวนานในการพิจารณาคดีโทษประหารชีวิตมากกว่าโทษอื่น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริสุทธิ์จะต้องไม่ถูกตัดสินว่าเป็นกระทำความผิดในสิ่งที่เขาไม่ได้กระทำ ในขณะที่คนกระทำผิดจริงจะต้องได้รับโทษ การลดค่าใช้จ่ายในการพิจารณาลงโดยเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต แล้วนำเงินมาเยียวยาครอบครัวเหยื่อน่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า
  • หลักปรัชญาหรือคำสอนทางศาสนา กลุ่มหรือองค์การทางศาสนาส่วนใหญ่จะต่อต้านโทษประหารชีวิต เนื่องจากหลักคำสอนทางศาสนา จะเน้นความรัก ความเมตตา การให้อภัยซึ่งกันและกัน ในพุทธศาสนาเองก็มีศีลห้า ที่ให้งดเว้นจากการฆ่าแม้กระทั่งสัตว์  ฯลฯ

          เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความจำเป็น ทำให้นักต่อต้านโทษประหารชีวิตนำมาอ้างในการรณรงค์ให้ประเทศต่างๆยกเลิกโทษดังกล่าว ได้แก่เหตุผลว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง หรือ ล้มเหลวในการระงับยับยั้งการกระทำผิด ข้ออ้างดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยอย่างพร่หลายของนักอาชญวิทยาส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่พบว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ทำให้เกิดการลดลงหรือช่วยป้องปรามอาชญากรรมได้ เช่นงานวิจัยล่าสุดในปี 2009 ของ Radetet & Lacock เรื่อง “การประหารชีวิตทำให้อัตราการฆ่ากันตายน้อยลงหรือไม่” งานวิจัยบางชิ้นพบเพียงว่า การลงโทษประหารชีวิต ช่วยลดอาชญากรรมได้ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวอัตราการเกิดอาชญากรรมก็กลับเป็นปกติเหมือนเดิม วิธีการศึกษาวิจัยของงานแต่ละชิ้น อาจแตกต่างกันออกไป เช่นบางชิ้นศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเกิดอาญากรรมในช่วงที่มีโทษประหารชีวิตและหลังยกเลิกโทษประหารชีวิต บางชิ้นศึกษาเปรียบเทียบอาชญกรรมประเภทเดียวกันก่อนและหลังการเพิ่มโทษจากจำคุกเป็นประหารชีวิต บ้างก็ศึกษาอัตราการเกิดอาชญากรรมกับประเทศที่มีการประหารชีวิตเป็นจำนวนมากกับประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตเลยซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน (เช่น อเมริกากับแคนาดา หรือสิงคโปร์กับฮ่องกง) เป็นต้น นอกจากนี้ มีงานวิจัยอาชญากรรมบางประเภทพบว่า อัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเข้าร่วมก่ออาชญากรรมสูงกว่าความเสี่ยงต่อการถูกลงโทษประหารชีวิตเสียด้วยซ้ำ นั่นคือ หากอาชญากรกลัวเสียชีวิตแม้จะไม่มีโทษประหารชีวิต ก็คงไม่ก่ออาชญากรรม เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเหมือนกัน อาชญกรรมบางประเภท เช่น ความผิดต่อชีวิต มักเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบมากกว่าการไตร่ตรองวางแผนล่วงหน้า จึงมักไม่คำนึงถึงผลทางกฎหมายที่จะตามมา

          อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยอีกจำนวนไม่น้อยที่พบผลว่า การลงโทษประหารชีวิตช่วยให้อาชญากรรมลดลง ส่งผลในการป้องปรามอาชญากรรม เช่น งานวิจัยของ Isaac Ehrlich ในปี 1975 ใช้ข้อมูลระหว่างปี 1932-1970 พบว่าเมื่อมีการประหารชีวิตหนึ่งครั้ง จะส่งผลช่วยป้องปรามการฆาตกรรมได้ประมาณ 1-8 ครั้ง การศึกษาของ Mocan and Gittings ในปี 2003 ใช้ข้อมูลระหว่างปี 1977-1997 พบว่า ในแต่ละครั้งของการประหารชีวิต จะช่วยลดการฆาตกรรมลงได้ 5 ครั้ง เป็นต้น

          สำหรับในประเทศไทย ข้อดีข้อเสียของการคงไว้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไปอีกนานยากที่จะหาข้อสรุป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจจะไม่สอดคล้องหรือไม่สามารถนำมาอนุมานกับลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยได้ งานวิจัยประเภทนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบ อีกทั้งผู้คนส่วนใหญ่ยังคงมองเห็นว่า การลงโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่สาสมกับความผิดบางประเภทที่มีลักษณะโหดเหี้ยมหรือสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่สังคม และมีความไม่พึงพอใจนักเมื่อมีการให้ความสำคัญกับสิทธิของอาชญากรมากกว่าคนที่เป็นเหยื่อ บางส่วนเห็นว่าโทษประหารชีวิต เป็นการระงับยับยั้งอาชญากรรมที่จะเกิดจากบุคคลคนนั้นได้อย่างถาวร จึงยังมีคนให้การสนับสนุนการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตอยู่มาก

          แม้ว่าประเทศไทยยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ยังมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ช่วยในการระงับยับยั้งหรือจำกัดโทษดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอยู่มาก เช่น การขอพระราชทานอภัยโทษภายหลังถูกพิพากษา การงดเว้นการประหารหญิงมีครรภ์ก่อนคลอดบุตร รวมทั้งการพิจารณาของศาลมีการนำคุณงามความดีหรือการให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมาพิจารณาร่วมด้วย เป็นต้น ทำให้การประหารชีวิตจริงๆเกิดขึ้นน้อยมาก…

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *