ย้อนอดีต — ประวัติการฝึกวิชาชีพและนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์

ในสมัยโบราณ การใช้แรงงานนักโทษถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้ควบคู่กันไปกับโทษจำคุก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้มีการเอานักโทษออกมาทำงานโยธาภายนอกเรือนจำทำถนนหลวง ทำความสะอาดสถานที่ราชการ ต่อเรือสำเภา ต่อเรือรบ เลื่อยไม้กระดาน ก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ราชการ …

          ต่อมาใน สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การใช้แรงงานนักโทษเป็นไปเพื่อประโยชน์ราชการ แผ่นดินเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ผลประโยชน์จะตกอยู่แก่เจ้าพนักงานผู้ควบคุม และเจ้าขุนมูลนาย ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาคุกตะรางทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นเจ้าพนักงานผู้ควบคุมคุกนั้น ไม่ได้รับพระราชทานเงินเดือนเบี้ยหวัด

           ครั้นต่อมาถึงรัตนโกสินทร์ศก 108  พระบาทสมเด็จพระลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริห์ ให้สร้างคุกและตะรางขึ้นใหม่เพื่อรวบรวมคุกและตะรางมาไว้ ณ ที่แห่งเดียวกันกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกรมพระนครบาลในขณะนั้น ได้ทรงมีแนวความคิดที่จะปฏิรูปการใช้แรงงานนักโทษให้เป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน ทั้งนี้โดยมีพระดำริห์เห็นว่าการคุมขัง อย่างเดิม มักเป็นช่องให้ผู้คุมกระทำการกดขี่ ข่มเหง นักโทษโดยทางผิดยุติธรรมต่าง ๆ เพราะพระราชบัญญัติการคุมขังนั้นยังไม่มี และนักโทษที่ต้องคุมขังเหล่านี้ไม่ได้มีการฝึกสอนกิริยาที่จะให้ประพฤติตน เป็นคนมีกิริยาดีต่อไป และทั้งไม่มีการให้วิชาความรู้สำหรับตัว เมื่อพ้นโทษไปแล้วจะได้เป็นวิชาสำหรับทำมาหากินเลี้ยงชีวิตต่อไปด้วย และการที่นักโทษทำการต่างๆ ทุกวันนี้ มักจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คุมเสียเป็นอันมาก ไม่ได้เป็นการเกื้อหนุนประโยชน์แผ่นดิน จะจัดให้เป็นของแผ่นดินเสียทั้งสิ้น และนักโทษก็มิให้เสียค่าธรรมเนียม กลับจะให้ได้รับพระราชทานความรู้ให้เป็นผล ให้เป็นประโยชน์ ฝ่ายเจ้าพนักงานนั้นไม่มีทางได้รับพระราชทานผลประโยชน์อันใดแต่การนักโทษ จึงคิดจัดให้มีเงินเดือน เป็นกำลังรับราชการให้พอสมควรแก่หน้าที่ และนักโทษจะได้รับพระราชทานการเลี้ยงดูอาหาร ข้าวปลา การนุ่งห่ม โดยมิต้องให้ญาติพี่น้องติดตามมาส่ง หรือทำงานด้วยฝีมือเป็นลำไพ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่ต้องพระราชอาญาจำคุก ทรงดำริห์ที่จะสร้างโรงงานเพื่อให้นักโทษได้ทำงานช่างฝีมือต่างๆ และการเลื่อยไม้ขึ้นในคุก และตะรางที่สร้างใหม่ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต รื้อเอาเครื่องไม้ที่คุกเก่า (คุกหน้าวัดโพธิ์) และศาลาหน้าหับเผย ไปทำโรงงานในคุกและตะรางให้เป็นประโยชน์ เมื่อสร้างคุกใหม่เรือนจำกองมหันตโทษเสร็จแล้ว ภายในคุกจึงมีโรงงานฝึกวิชาชีพช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างกลึง และช่างสิบหมู่

          ในปีรัตนโกสินทร์ศก 109 ได้มีการย้ายนักโทษจากคุกเก่ามาไว้คุกใหม่ จำนวน 200 คน และนักโทษช่างอีก 9 คน ครั้นเมื่อถึงวันที่ 3 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ ศก 110 กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกรมพระนครบาลได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว และทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของที่ทำจากฝีมือนักโทษในคุกใหม่ดังคำกราบบังคมทูล ดังนี้

“…การนักโทษทำงานที่คุกใหม่ ซึ่งพระอภัยพลภักดิ์ ได้ให้จัดทำสิ่งของขึ้นขายเพื่อให้เป็นประโยชน์เงินขึ้นแผ่นดินสืบไปนั้น บัดนี้ ได้ทำสิ่งของที่ควรผู้ดีจะใช้ได้หลายสิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายหวายเป็นตัวอย่างในครั้งนี้

…การนักโทษทำงานที่คุกใหม่ ซึ่งพระอภัยพลภักดิ์ ได้ให้จัดทำสิ่งของขึ้นขายเพื่อให้เป็นประโยชน์เงินขึ้นแผ่นดินสืบไปนั้น บัดนี้ ได้ทำสิ่งของที่ควรผู้ดีจะใช้ได้หลายสิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายหวายเป็นตัวอย่างในครั้งนี้

– ดุมเสื้อสานเป็นรูปตระกร้อทองคำ สำรับ 1
– ทอง นาค เงิน สานขัดกัน สำรับ 1
– เงิน สำรับ 1
– เก้าอี้สำหรับเดินทาง เป็นอย่างสำหรับนั่งอ่านหนังสือ กระดาน ที่พนักหลังถอดออกมา ทางบนพนักเป็นโต๊ะได้ 2 เก้าอี้
– เก้าอี้เล็กสำหรับนั่ง 12 เก้าอี้
– ขันล้างหน้าลงหิน ที่ทำขึ้นสำหรับขายส่งไปเมืองลาว และต่างประเทศ มีอินเดีย และพม่า เป็นต้น…”

          ครั้นต่อมา ณ รัตนโกสินทร์ศก 110 กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ได้กราบบังคมทูลขอ พระบรม ราชานุญาตใช้ข้อบังคับสำคัญสำหรับคุมขังนักโทษในกรมพระนครบาลซึ่งพระองค์ได้ทรงร่างขึ้น ในข้อบังคับดังกล่าวนี้ มีส่วนหนึ่งว่าด้วยการทำงานของนักโทษกล่าวคือ “…บรรดานักโทษที่ต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก ถ้าไม่มีหนังสือคำสั่งให้ยกเว้นแล้ว ต้องทำงานจนตลอดเวลาที่ต้องรับพระราชอาญา จำอยู่ในคุกทุกคน ยกเสียแต่เมื่อเวลาป่วยไข้ที่แพทย์ให้หนังสือสำคัญ อนุญาตให้ยกเว้นจึงจะยกเว้นได้เป็นเมื่อเป็นคราว…”

          การที่นักโทษทำงานนั้น เป็นหน้าที่ของเสนาบดี ว่าการกรมพระนครบาลกับจางวางกรมนักโทษ ต้องรับผิดชอบคิดจัดการคุก ให้มีประโยชน์จนได้ การสิ่งใดที่ต้องใช้แรงนักโทษรับ หรือของสิ่งใดที่ควรทำขึ้นจำหน่าย ขาย จะได้ประโยชน์มาก ต้องจัดการสิ่งนั้นๆ ให้นักโทษทำการ

          บรรดานักโทษที่ต้องทำงานนั้น ให้มีหนังสือกำหนดงานสำหรับตัวนักโทษทุกคน หนังสือนี้เป็นสมุดทำด้วยกระดาษหนาให้ทนทานเย็บเป็นเล่ม เพื่อได้ลงรายงานที่นักโทษคนนั้น ทำการแลเปลี่ยนแปลงงาน ฤาเหตุการที่นักโทษทำผิดแลชอบ และบัญชีคะแนนที่นักโทษได้รับนั้น ด้วยหนังสือนี้นักโทษที่ตรวจที่กำกับกองทำงานเป็นผู้เก็บรักษาเพื่อเจ้าพนักงานจะได้ลงเหตุการณ์ สำหรับตัวนักโทษที่ทำงาน ต่อไป

          บรรดาของที่นักโทษทำในคุกนั้น ต้องมีบัญชีและปิดเลขหมายจำนวนสิ่งของให้มีราคาเงินค่าสิ่งของขายนำเงินส่งพระคลังมหาสมบัติทั้งสิ้น เว้นเสียแต่สิ่งของที่ใช้การในคุกแล้วไม่ต้องปิดเลขหมายแลใช้เงิน เป็นแต่ให้ทราบไว้ในบัญชีเท่านั้น แลสิ่งของที่จะขายไปจากคุกนั้นห้ามมิให้ขายเชื่อ บรรดาการงานที่ใช้แรงนักโทษซึ่งยกเสียแต่การงานในคุก แลการที่มีคำสั่งเสนาบดีว่าการกรมพระนครบาลเป็นสำคัญแล้ว ต้องเป็นการจ้างสิ้น เงินค่าจ้างนั้นให้นำส่งพระคลังมหาสมบัติ บรรดาสิงของที่ใช้แรงนักโทษรับจ้างฤาไม่ได้เงินค่าจ้างก่อนแล้ว ห้ามมิให้ส่งของให้ผู้จ้างเป็นอันขาด ยกเสียแต่สิ่งของที่จ้างนั้น ตกอยู่แก่เจ้าพนักงาน มีราคาถ้วนเงินค่าจ้างแล้วจึงให้ยอมให้ไป

         บรรดาสิ่งที่จะใช้ทำสิ่งของในคุกนั้น เมื่อใกล้จะขึ้นปีใหม่ เจ้ากรมจะต้องเป็นผู้คิดกับนายช่างใหญ่ ประมาณรายสิ่งของและประมาณเงินที่จะใช้จัดซื้อ ยื่นต่อจางวางกรมนักโทษ เมื่อได้เสนอเสนาบดีว่าการกรมพระนครบาลตรวจแลยื่นบัญชี ประมาณเงินที่จะเบิกแต่พระคลังมหาสมบัติ ใช้ทำการในคุกตามจำนวนปีต่อไปบรรดาการทำหนังสือสัญญาที่จ้างแรงนักโทษทำการนั้นก็ดี จัดซื้อของใช้การในคุกก็ดี จัดซื้อของใช้ทำสิ่งของทั้งปวงที่สำหรับขายนั้นก็ดี เจ้ากรมต้องทำหนังสือสัญญานั้นมาให้จางวางตรวจและประทับตราในหนังสือสัญญาเป็นสำคัญด้วยจึงจะใช้ได้  ให้เจ้าพนักงานตั้งห้างไว้สิ่งของตัวอย่างที่นักโทษทำสำหรับขาย ห้างหนึ่งที่ริมคุก เพื่อที่ผู้ต้องการจะซื้อของ สิ่งของได้มาดูตัวอย่างแลซื้อแลสั่งที่ห้างนั้น ห้างที่ขายสิ่งของนี้เป็นหน้าที่ของนายภารโรงเป็นผู้รักษาอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้ากรมฯบรรดาสิ่งของที่นักโทษทำ เมื่อเอาออกจากคุกนั้นต้องมีเลขหมายจำนวนแลบัญชีให้มั่นคง ทุกสิ่ง การทำบัญชีนั้นเป็นหน้าที่สมุห์บัญชีกับนายภารโรงแลอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้ากรมด้วย

การใช้แรงงานนักโทษภายนอกบริเวณเรือนจำ

          การใช้แรงงานนักโทษทำกิจการภายนอกบริเวณเรือนจำนั้น ได้มีกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยการใช้แรงงานนักโทษ พ.ศ. 2460 บังคับไว้ว่า นักโทษที่ได้จ่ายออกไปทำงานโยธานอกเรือนจำนั้น ถ้าผู้บัญชาการสามารถจะคิดค่าจ้างให้แก่เรือนจำได้ ให้คิดค่าจ้างแรงหนึ่งวันละไม่น้อยกว่า 20 สตางค์ แต่ห้ามมิให้รับทำการโยธาของเอกชน งานโยธาในที่นี้ มุ่งหมายถึงงานหนักต่างๆ อาทิเช่นทำถนนเพื่อสาธารณชน หรือซ่อมแซมสถานที่ราชการของรัฐบาลเป็นต้น ต่อไปนี้มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าอย่างไรจึงจะ เรียกว่าผู้บัญชาการเรือนจำสามารถที่จะคิดค่าจ้างให้แก่เรือนจำได้ ในข้อนี้เห็นว่าถ้ากิจการใด มีเงินงบประมาณรายจ่ายตั้งไว้ ก็ย่อมจะคิดค่าจ้างแรงงานจากงานนั้นได้แรงหนึ่งวันละไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ ซึ่งเป็นมาตรฐานอย่างต่ำ ส่วนอัตราอย่างสูงไม่ได้กำหนดไว้ จึงต้องถือเอาอัตราค่าจ้างแรงงานกรรมกรในท้องถิ่นเป็นมาตรฐานอย่างสูง สำหรับคิดค่าจ้างแรงงานนักโทษและอัตรา ค่าจ้างแรงงานกรรมกรในท้องถิ่นดังกล่าวแล้วนั้น ก็ยังมีกฎหมายกำหนดไว้ อัตราค่าจ้างแรงงาน จึงอาจสูงๆ ต่ำๆ ไม่คงที่แน่นอน ฉะนั้น ควรถือเอาอัตราที่เป็นอยู่ในขณะที่คิดค่าจ้างแรงงานของนักโทษนั้น เป็นมาตรฐานอย่างสูงในการเรียกร้องค่าจ้างแรงงานให้แก่เรือนจำ แต่ทั้งนี้อาจมีการผ่อนผันเป็นการเฉพาะ ราย หรือเป็นการชั่วคราวอยู่บ้างเพราะเหตุว่าถึงในกิจการนั้นได้มีเงินรายจ่ายอยู่ก็ดี แต่มีน้อยยังไม่สามารถคิดค่าแรงในอัตรานั้นต่ำให้ได้ อาทิเช่น เทศบาลต่างๆ อาจคิดค่าแรงให้ได้เพียงในหนึ่ง วันละ 15 สตางค์ ดังนี้ทางการจึงผ่อนผันให้ชั่วคราวจนกว่าเทศบาลจะมี รายได้สูงขึ้น จึงเรียกค่าแรงเพิ่มขึ้นให้เข้าอยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำและสูงขึ้น เป็นลำดับไป

          ส่วนกิจการรายได้ที่ไม่มีงบประมาณรายจ่าย หรือเงินรายได้ที่จะจ่ายให้ได้ก็ทำให้โดยไม่ต้องเรียกค่าจ้างแรงงาน เพื่อเป็นการช่วยเหลือราชการของประเทศชาติแต่ทั้งนี้ต้องระมัดระวังอย่าให้เป็นเหตุกระทบกระเทือนถึงเงินผลประโยชน์ของเรือนจำ ต้องตกต่ำไปกว่างบประมาณรายได้ของเรือนจำ เพราะว่าเมื่องบประมาณรายได้ของเรือนจำตกต่ำไปแล้วก็ต้องกระทบกระเทือนรายได้ของแผ่นดินต้องตกต่ำไปด้วย

การใช้แรงงานนักโทษภายในบริเวณเรือนจำ อาจแบ่งได้ดังต่อไปนี้

          1. ทำกิจการของเรือนจำ หมายถึงการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวแก่ตัวผู้ต้องขังเอง อาทิเช่น การทำความสะอาด การซักฟอกเสื้อผ้า และการหุงต้มอาหารเลี้ยงดูผู้ต้องขังกิจการเช่น ว่านี้ไม่ต้องคิดค่าจ้างแรงงาน เพราะรัฐบาลมิได้ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายขึ้นไว้ จึงไม่สามารถเบิกเงินค่าจ้างแรงงานได้ แต่ทั้งนี้ เจ้าพนักงานเรือนจำจะต้องระมัดระวังให้การใช้แรงงานเป็นไปโดย สมควรแก่การงานที่จำเป็นจะต้องทำ มิใช่เป็นการฟุ่มเฟือยจนคนเหลืองาน

          2. ทำกิจการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในทาง ทรัพย์สินแก่เรือนจำ ได้แก่การรับจ้างทำสิ่งของ ซึ่งหมายถึงผู้จ้างส่งวัตถุดิบมาจ้างให้ทำ หรือทำของสั่งซื้อ คือ ทำสิ่งของที่ผู้สั่งจ้างส่ง ของดิบมาให้ทำ หรือการรับจ้างใช้แรงงานทำการอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเรือนจำไม่ต้องลงทุนและทำการประดิษฐกรรมเพื่อจำหน่ายการทำงานดังกล่าวนี้ ย่อมมีค่าจ้างแรงงาน และคิดพอสมควร ส่วนการ ประดิษฐกรรมควรคิดราคาจำหน่ายตามหลักพาณิชย์กรรม แต่มีข้อที่น่าคำนึงอยู่ว่า ประดิษฐกรรมของเรือนจำไม่ได้มุ่งประสงค์จะให้กำไรอย่างเดียว แต่ได้มุ่งหมายหนักไปในแง่ที่จะอบรมสั่งสอนดังได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ฉะนั้น จึงไม่ควรคิดจำหน่ายผลประดิษฐกรรมโดยราคาแพงเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้จำหน่ายไม่ได้ หรือทำการจำหน่ายฝืดเคือง

          ครั้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 รัฐบาลภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้แถลงนโยบายเพื่อรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า วิธีการราชทัณฑ์จะได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

          1. จะได้จัดให้มีการอบรมนักโทษ ในทางธรรมจรรยา และสั่งสอนวิชาชีพพร้อมทั้งการฝึกฝน และจัดให้มีการทำงานที่เป็นคุณประโยชน์เพื่อสุขภาพ เพื่อปลูกฝังนิสัยและส่งเสริม วิชาชีพ
          2.จะได้จัดระเบียบคนจรจัดให้มีที่อยู่ ที่ทำกินโดยเฉพาะ พร้อมด้วยดำเนินการ อบรมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เป็นพลเมืองดีต่อไป
          3. จะได้ปรับปรุงโรงเรียนดัดสันดานเสียใหม่ ให้การศึกษาและฝึกฝนหัดทำงาน วิชาชีพ เพื่ออบรมให้เป็นพลเมืองดีต่อไป    

   

          ท่านผู้รู้ได้อธิบายว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษจำคุก หรืออีกนัยหนึ่ง ตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้แสดงถึงหลักการปฏิบัติราชทัณฑ์ว่าด้วยอุบายแห่งการลงโทษ คือ การบังคับให้ต้องทำงาน และเขาอาจแบ่งงานหนักเบาตามลักษณะและชนิดของบุคคลได้ การใช้แรงงานผู้ต้องขังตามนัยแห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ดังกล่าวแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังได้ออกกฎกระทรวง กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้แรงงานนักโทษไว้ดังนี้งานที่จัดให้นักโทษเด็ดขาดทำ ให้คำนึงถึงข้อต่อไปนี้ คือ

• กำหนดโทษ
• ความแข็งแรงแห่งร่าง กาย
• สติปัญญา
• อุปนิสัย ฝีมือ และความรู้ความชำนาญ
• ผลในทางเศรษฐกิจ
• ผลในทางอบรมสภาพแห่งเรือนจำ

          นักโทษเด็ดขาดที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ให้คำนึงถึงการศึกษาอบรมเป็นพิเศษ  โดยที่กรมราชทัณฑ์มุ่งหวังจะคืนคนดีกลับสู่สังคม จึงได้พัฒนาด้านการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยมีการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ต้องขังและอีกทางหนึ่งคือ การนำวิทยากรจากสถาบันการศึกษาภายนอกเรือนจำ เข้าไปฝึกสอนให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังในสาขาอาชีพต่างๆ และจัดแข่งขันฝีมือผู้ต้องขัง ทั้งในส่วนภูมิภาคและระดับชาติในหลายสาขาอาชีพ ทำให้ผู้ต้องขังมีการพัฒนาฝีมือจนได้มาตรฐาน สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เมื่อพ้นโทษออกไปโดยไม่เป็นภาระกับสังคม เป็นการคืนคนดีกลับสู่สังคมและสร้างความภูมิใจในตนเองให้กับผู้พ้นโทษ

          กรมราชทัณฑ์ได้พัฒนาด้านการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งด้านฝีมือ รูปแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์การฝึกวิชาชีพที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือผู้ต้องขังมีรูปแบบที่ทันสมัยประณีต สวยงาม แข็งแรง ทนทาน เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลการฝึกวิชาชีพออกสู่สายตาประชาชนให้เป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอก ประชาชน ได้รับทราบนโยบายของกรมราชทัณฑ์ และเห็นผลงานด้านการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังเข้าใจปัญหา และหันมาให้ความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้ประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นคนดี มีวิชาความรู้และสามารถใช้วิชาความรู้ที่ฝึกฝนมาระหว่างที่ถูกจองจำ นำไปประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังจากพ้นโทษออกไป

          ในปี พ.ศ. 2514 กรมราชทัณฑ์ โดยนายประดิษฐ์ พาณิชการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้ริเริ่มจัดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากฝีมือ ผู้ต้องขังของเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ ออกแสดงและจำหน่าย ณ ศูนย์แสดงสินค้าไทย กรมการสนเทศ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความนิยม จากประชาชน องค์กร และ ส่วนราชการต่างๆ เป็นอย่างดี กรมราชทัณฑ์จึงได้จัดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์เรื่อยมาจนปัจจุบัน (พ.ศ. 2546) ได้จัดขึ้นรวม 35 ครั้ง และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รับความนิยมและเกื้อหนุนจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี

          กรมราชทัณฑ์จึงได้จัดงานวันพบญาติโดยให้เรือนจำและทัณฑสถานนำสินค้ามาแสดงและจำหน่าย รวม 22 ครั้ง และอนุญาตให้เรือนจำและทัณฑสถานในส่วนภูมิภาคจัดงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ประจำแต่ละภาค รวมทั้งให้เรือนจำและทัณฑสถานนำผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ออกแสดงและจำหน่ายในงานกาชาดจังหวัด งานประจำปี และงานเทศกาลต่างๆ ที่ภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น สำหรับการจัดงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์ ซึ่งจัดมาแล้ว 35 ครั้ง สรุปได้ ดังนี้

          ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม – 6 เมษายน 2514 รวม 9 วัน ณ ศูนย์แสดง สินค้าไทย กรมการสนเทศ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร โดยมี ฯพณฯ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 5 แห่งจำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 1,443,427.25 บาท

          ครั้งที่ 2 เ มื่อวันที่ 28 มีนาคม – 3 เมษายน 2515 รวม 7 วัน ณ ศูนย์แสดงสินค้าไทย กรมการสนเทศ สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร โดยมี นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 73 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 1,543,477.75 บาท

          ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2516 รวม 9 วัน ณ ศูนย์พาณิชกรรม อาคารราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร โดยมี นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 72 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 2,323,876.80 บาท

          ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2517 รวม 11 วัน ณ ศูนย์พาณิชกรรม อาคารราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร โดยมี ฯพณฯ นายกมล วรรณประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 80 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 4,454,543.25 บาท

          ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 9 มีนาคม 2518 รวม 10 วัน ณ บริเวณสนามไชย ข้างวังสราญรมย์ โดยมี นายชลอ วนะภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วม งานจำนวน 80 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 5,087,562.75 บาท

          ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 30 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2519 รวม 10 วัน ณ บริเวณสนามไชยข้างวังสราญรมย์ โดยมี ฯพณฯ นายสมบุญ ศิริธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 73 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 5,594,443.50 บาท

          ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 3 – 13 มีนาคม 2520 รวม 11 วัน ณ บริเวณวังสราญรมย์ โดยมี ฯพณฯ นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถาน มาร่วมงาน จำนวน 75 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 8,656,854.51 บาท

          ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 2 – 12 มีนาคม 2521 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามไชย โดยมี ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 72 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 13,664,456.00 บาท

          ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 1 – 11 มีนาคม 2522 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร ในครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 87 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 18,872,770.00 บาท

          ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2523 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายเชาวัศ สุดลาภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 40,511,770.00 บาท

          ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 22 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2524  รวม 11 วัน บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายประเทือง กีรติบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 102 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้ 52,567,886.50 บาท

          ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 18 – 28 กุมภาพันธ์ 2525 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พลเอก สิทธิ์ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 102 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 59,169,896.75 บาท

           ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 10 – 20 กุมภาพันธ์ 2526 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พลเอก สิทธิ์ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 105 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 71,909,229.15 บาท

          ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2527 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พลเอก สิทธิ์ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 107 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 95,345,681.90 บาท

          ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2528 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯพลเอก สิทธิ์ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 112,153,976.35 บาท

          ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2529   รวม 11วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯพลเอก สิทธิ์ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 108 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 111,878,873.82 บาท

          ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2530 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และ ฯพณฯ พลเอก ประจวบ สุนทรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กล่าวรายงาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 112 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 124,389,997.50 บาท

          ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 19 – 29 กุมภาพันธ์ 2531 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พลเอก ประจวบ สุนทรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 107 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้ เป็นเงิน 117,145,808.90 บาท

          ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2532 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 110 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 130,111,272.40 บาท

          ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 17 – 25 กุมภาพันธ์ 2533 รวม 9 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 99 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 139,536,470.50 บาท

          ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 16 – 24 กุมภาพันธ์ 2534 รวม 9 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมา ร่วมงาน จำนวน 100 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 138,162,654.50 บาท

          ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 11 – 17 มกราคม 2535 รวม 7 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พล.อ.อ.อนันต์ กลินทะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 98 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 117,311,820.50 บาท

          ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2536 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดย ฯพณฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 102 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 102,413,242.00 บาท

          ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 10 – 19 มิถุนายน 2537 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมา ร่วมงานจำนวน 106 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 93,442,122.50 บาท

          ครั้งที่ 25 เมื่อวันที่ 28 กันยายน – 8 ตุลาคม 2538 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 107 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้ป็นเงิน 94,301,244.00 บาท

          ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 10 – 19 กุมภาพันธ์ 2539 รวม 10 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ พล.ต.ศรชัย มนตรีวัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมา ร่วมงานจำนวน 95 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 66,736,947.00 บาท

          ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2540 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร โดยมี ฯพณฯ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและ ทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 105 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 80,847,156.00 บาท

          ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 10 – 20 ธันวาคม 2541 รวม 11 วัน ณ บริเวณสวนอัมพร ในครั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานฯ เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงาน จำนวน 108 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 63,292,992.00 บาท

          ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2542 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้า เรือนจำกลางคลองเปรม โดยมี ฯพณฯ นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 115 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 53,541,312.75 บาท

          ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2543 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้า เรือนจำกลางคลองเปรม โดยมี ฯพณฯ ร้อยตำรวจเอก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 59,137,766.50 บาท

          ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 3 – 13 สิงหาคม 2544  รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้าเรือนจำกลาง คลองเปรม โดยมี ฯพณฯ ร้อยตำรวจเอก ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 97 แห่งจำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 40,507,846.00 บาท

          ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2545 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม โดยมี ฯพณฯ นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 108 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้ 52,018,101.00 บาท

          ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 2 – 12 สิงหาคม 2544 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม โดยมี ฯพณฯ ร้อยตำรวจเอก ปุรชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เรือนจำและทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 104 แห่งจำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 51,396,941.21 บาท

          ครั้งที่ 34 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2546 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้ากลุ่มเรือนจำและทัณฑสถานลาดยาว โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) เป็นประธาน เรือนจำ/ทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 114 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 57,036,166.25 บาท

          ครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 8 – 18 สิงหาคม 2546 รวม 11 วัน ณ บริเวณสนามหน้ากลุ่มเรือนจำและทัณฑสถานลาดยาว โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ) เป็นประธาน เรือนจำ/ทัณฑสถานมาร่วมงานจำนวน 118 แห่ง จำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน 52,573,967.50 บาท

         ครั้งที่ 36 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 4 เมษายน 2547 และ ครั้งที่ 37 จัดระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 6 กันยายน 2547 ณ บริเวณสนามหน้ากลุ่มเรือนจำและทัณฑสถานลาดยาวกรุงเทพมหานคร 

หนังสืออ้างอิง/แหล่งค้นคว้า

  • หนังสือประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปีกรมราชทัณฑ์ กระทรวง มหาดไทย
    จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
    โรงพิมพ์ราชทัณฑ์ เรือนจำกลางคลองเปรม 2525
  • หนังสือ 91 ปีมหาดไทย จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนา
    กระทรวงมหาดไทย ครบรอบปีที่ 91 จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์
    โทร 0 2222 1268, 0 2221 7299
  • หนังสือสรุปผลงานกระทรวงมหาดไทยในรอบ 1 ปี จัดพิมพ์เนื่องใน
    วโรกาสฉลองศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539
    จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์พิมพ์ดี โทร 0 2278 0217, 0 2271 0753
  • ห้องสมุดกระทรวงมหาดไทย
  • ห้องสมุดสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์
  • ส่วนบริหารแรงงานและเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์
  • ส่วนส่งเสริมการฝึกวิชาชีพ สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ 

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *