30 ปี มสธ. การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ผู้ต้องขัง

กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมกันจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ผู้ต้องขัง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527  เป็นต้นมา และในปี พ.ศ.2557 นี้จะเป็นวาระโอกาสครบรอบ 30 ปี ของของความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งสองแห่ง นับว่าเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

          แม้ว่าการศึกษาที่สูงหรือต่ำ ไม่ใช่เครื่องมือวัดความเป็นคนดีหรือเลวของมนุษย์  แต่การศึกษาก็เป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปใช้ประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังมีส่วนช่วยสร้างความภาคภูมิใจ  รู้สึกถึงความมีคุณค่าของตนเอง  ซึ่งเป็นเครื่องมือยับยั้งมิให้มนุษย์ทำสิ่งใดใดก็ตามที่จะทำลายเกียรติภูมิหรือความภาคภูมิใจในตนเอง ดังนั้นในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องการพัฒนาการศึกษาของคนเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการศึกษาของผู้ต้องขังและเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังสามารถสมัครเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ เพื่อไม่ให้กำแพงคุกกลายเป็นกำแพงขวางกั้นการพัฒนาตนเองทางด้านสติปัญญาและความรู้ของผู้ต้องขัง

          การศึกษาระดับอุดมศึกษาของผู้ต้องขัง  ได้รับการจุดประกายจากผู้ต้องคนหนึ่งซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวางชื่อว่า บันเทิง ชูชาติ เขาได้ให้ญาติของตัวเองคนหนึ่งยื่นใบสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ และแจ้งฐานะการเป็นนักศึกษาให้เรือนจำกลางบางขวางทราบ พร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อเรือนจำขอให้ตนเข้าสอบไล่ในปีการศึกษา 2527 นายสวัสดิ์ สรรเสริญ อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง ได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อให้ประสานกับมหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราชในการพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสม  นายสนิท รุจิณรงค์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์  และ ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้มีความเห็นสอดคล้องกันที่จะร่วมกันจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ผู้ต้องขังทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและประสงค์จะสมัครเรียน นับตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2528   เป็นต้นมา  เพื่อเป็นขยายโอกาสด้านการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง  และในเดือนตุลาคม 2530  กุยแก้ว อินต๊ะแก้ว จากเรือนจำกลางบางขวาง ก็ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ เป็นผู้ต้องขังรายแรกที่เป็นบัณฑิตขณะต้องโทษอยู่ในเรือนจำ

          นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กรมราชทัณฑ์ก็ได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถานทุกแห่ง ให้มีโอกาสในการเล่าเรียนศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีการกำหนดมาตรการและแนวทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ต้องขังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในระดับดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอยู่หลายพันคน (สถิตินักศึกษา) และสำเร็จการศึกษาขณะต้องโทษนับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีจำนวนถึง 1,891 ราย (สถิติผู้สำเร็จการศึกษา) ผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มพูนวิทยฐานะของตนเอง บางคนเริ่มต้นเรียนอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนจบปริญญาตรีก็มี บางคนได้รับปริญญาบัตรแล้วหลายสาขาวิชา แม้ว่าปริญญาเหล่านั้นจะไม่ใช่ตราประทับว่าเขาจะกลับตัวเป็นคนดี แต่หากสามารถทำให้เขาเหล่านั้น นำวิชาความรู้มาใช้ในทางสร้างสรรค์ได้ ก็จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตของเขา ครอบครัว ตลอดจนสังคมและประเทศชาติอย่างมหาศาล ดังปรากฏว่าผู้พ้นโทษเป็นจำนวนมาก ได้นำวิชาความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพอย่างหลากหลาย ไม่เว้นแม้แต่อาชีพทนายความ

          ในวาระครอบ 30 ปี ของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในเรือนจำ/ทัณฑสถาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่จะจัดงานฉลองปริญญาบัตรให้แก่ผู้ต้องขัง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557  ณ  เรือนจำกลางบางขวาง  โดยได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมการแล้วในบางส่วน งานฉลองปริญญาดังกล่าว กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัย ได้เคยร่วมกันจัดขึ้นมาแล้วเป็นระยะๆ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี 12 ปี 15 ปี 20 ปี และ 25 ปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขังที่มีความวิริยะ อุตสาหะ มีความตั้งใจสูงในการศึกษาเล่าเรียน ผู้ต้องขังเหล่านี้ นอกจากจะแสวงหาความรู้ให้กับตนเองแล้ว  ยังเป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ภายในเรือนจำ/ทัณฑสถานนั้นๆ อีกด้วย เช่น การเป็นผู้ช่วยสอน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในงานที่ต้องใช้ทักษะความรู้ความสามารถ จัดทำวารสาร เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ข่าวสารที่สร้างสรรค์ในนามของชมรม มสธ. เป็นต้น นอกจากนี้ งานฉลองปริญญาของผู้ต้องขัง จะเป็นเผยแพร่ภารกิจด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้โอกาสทางการศึกษาของกรมราชทัณฑ์  ให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน ให้สังคมได้รับรู้ และให้โอกาสแก่ผู้พ้นโทษได้พิสูจน์ตนเอง ไม่ปิดกั้นโอกาสในการนำวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพสุจริตของพวกเขา ทำให้นโยบายของกรมราชทัณฑ์ในการ “คืนคนดีสู่สังคม” บังเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น….

ข้อมูลอ้างอิง  การศึกษา มสธ.: ทางเลือกที่ดีกว่าของผู้ต้องขัง

ประมวลภาพ การประชุมร่วมกันระหวาง กรมราชทัณฑ์และ มสธ. วันที่ 30 เมษายน 2557 ณ กรมราชทัณฑ์

{gallery}sec1/prachum30-04-2557{/gallery}

 

 

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *